วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ออกแบบการสร้างหรือปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน หรือ อาคารสีเขียว

จากภาวะวิกฤติด้านพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล และค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับขึ้นทุกปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อหลายองค์กรและหน่วยงานที่ใช้พลังงานเป็นหลัก ได้แก่ภาคอุตสาหกรรม รองลงมาคือ ภาคการขนส่ง และบ้านพักอาศัย

ส่วนการใช้พลังงานของภาคธุรกิจ การค้า และสำนักงานนั้นก็ไม่น้อยหน้ามีการใช้พลังงานสูงถึงร้อยละ 7 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานร่วมกันหาแนวทางในการลดการใช้พลังงานของ องค์กรตัวเองด้วยการสร้างหรือปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานและ อาคารสีเขียวเพื่อเป็นแบบที่ดี

เมื่อก่อนการปลูกสร้างอาคารในเมือง จะให้ความสำคัญด้านธุรกิจการตลาด และความคุ้มทุน เป็นลำดับแรก ๆ แต่ในปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนไป มีการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดพลังงานภายในองค์กร และปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในการออกแบบ และวางผังอาคาร สถาปนิกจะต้องพิจารณาวิธีการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเน้นด้านการประหยัดพลังงานควบคู่ไปด้วย บางหน่วยงานผู้บริหารจะหันมาสนใจดูแลทุกข์สุขของพนักงานมากขึ้น โดยจัดสำนักงานให้เป็นอาคารสีเขียว เน้นในเรื่องของการพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด โดยการออกแบบให้มีต้นไม้ที่ช่วยสร้างร่มเงาให้อาคาร ทั้งไม้ยืนต้น พุ่มสูง พุ่มเตี้ย และไม้คลุมดินประกอบกัน

ถ้าเวลาหนึ่งในสามของวันคือการนั่งทำงานอยู่ในสำนักงาน ระหว่างนี้เราได้เติมเต็มความสุขและความสะดวกสบายให้กับตนเองอย่างไรบ้าง???

จะดีไหม หากจะลดความสะดวกลงบ้าง ด้วยการพิจารณา หยุดคิดก่อนที่จะทำตามความคุ้นเคยแบบเก่า ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่จะช่วยลด ละ การบริโภคทรัพยากรมากเกินความจำเป็น ด้วย วิธีการง่าย ๆ ที่ทุกคนก็สามารถทำได้ อาทิ

** ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียล ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กำลังสบาย อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศา ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10

** ปลูกต้นไม้รอบ ๆ อาคาร เพราะต้นไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้น ให้ความเย็นเท่ากับเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน หรือให้ความเย็นประมาณ 12,000 บีทียู

** ในสำนักงานให้ปิดไฟ ปิดเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลาพักเที่ยง จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้

** ลด ละ เลี่ยง การใส่สูท เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อน สิ้นเปลืองการตัด ซัก รีด และความจำเป็นในการเปิดเครื่องปรับอากาศ

** ลดการสูญเสียกระดาษเพิ่ม ด้วยการใช้กระดาษสองหน้า และหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษปะหน้าโทรสาร ชนิดเต็มแผ่น และหันมาใช้กระดาษเล็ก ที่สามารถพับบนโทรสารได้

** กระตุ้นเตือนให้พนักงานช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยการติดสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายให้ช่วยประหยัดไฟ ตรงบริเวณใกล้สวิตช์ไฟ เพื่อเตือนให้ปิดเมื่อเลิกใช้แล้ว

เริ่มคิดและลงมือตั้งแต่วันนี้ เพราะพฤติกรรมของแต่ละคนล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในวันนี้และวัน ข้างหน้า.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=509&contentId=110474

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไทยนำเข้าพลังงานสูงติดอันดับ 1 ใน 25 ของโลก

“วรรณรัตน์” เผยไทยนำเข้าพลังงานสูงติดอันดับ 1 ใน 25 ของโลก เล็งปั้นอี 85 ทดแทนนำเข้า

วันนี้ 13 ธ.ค.นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดจำหน่ยน้ำมันพีทีที บลู แก๊สโซฮอล์ อี 85 ของปตท. แห่งที่ 5 ที่สาขาเกษตร-นวมินทร์ กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 25 ของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุดของโลก ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและ รณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ถือเป็น น้ำมันของคนไทย ที่จะช่วยให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ผลิตเอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง ผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มและน้ำมันที่ใช้แล้ว เป็นต้น โดยการใช้อี 85 เพียง 1 ลิตร จะช่วยให้ประเทศลดการใช้น้ำมันเบนซิน ลงได้ถึงประมาณ 0.85 ลิตร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมและเป็นการประกันรายได้เกษตรกรไทยด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ปตท. ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนจนประสบความสำเร็จ และลดการสูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศเป็นอย่างมาก

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเปิดจุดจำหน่ายอี 85 แห่งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ยังช่วยให้คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้รถอี85 ส่วนใหญ่ มีความสะดวกในการเข้ารับบริการเติมน้ำมัน ซึ่งจะหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยลดมลภาวะในเมืองอีกด้วย ปัจจุบันยอดการจำหน่ายน้ำมันพีทีที บลู แก๊สโซฮอล์อี 85 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณเฉลี่ย 327 ลิตรต่อวัน ในปี 52 เป็นเฉลี่ย 2,210 ลิตรต่อวัน.ในปี 53 หรือเพิ่ม 576%

ทั้งนี้ในปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.มี 1,297 แห่งทั่วประเทศ มีจุดจำหน่ายอี 85 รวมจำนวน 5 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง รวมสาขาเกษตร-นวมินทร์แห่งนี้ และที่จังหวัดนครราชสีมาอีก 1 แห่ง ซึ่งในอนาคต ปตท.จะพิจารณาขยายสถานีบริการอี85 ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อไป.


http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=109707

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โครงการ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ไทย-ลาว “น้ำงึม2”

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไฟฟ้ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และนับวันความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงต้องมองหาแหล่ง พลังงานสำรองเพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานและเสริมสร้างความมั่นคง ให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาช่องทางในการที่จะลดการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่าน หินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนก่อให้เกิดกระแส ต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2553-2573) ที่เน้นการรับซื้อไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทนและไม่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้พลังงานน้ำจึงเป็นทางเลือกลำดับต้นๆเพื่อใช้ในกระบวนการ ผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วงระยะเวลา 4 ปี (2549-2553) ที่ผ่านมา โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำงึม 2” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต อีกด้านคือเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทเซาท์อีสเอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ ส.ป.ป.ลาว โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาหลักในการออกแบบและก่อสร้าง โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30,832 ล้านบาท ถือว่าเป็นกิจการของคนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านรายใหญ่

เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 ตั้งอยู่ทิศเหนือของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ตัวเขื่อนตั้งขวางลำน้ำงึมที่บ้านห้วยม่อ แขวงเวียงจันทน์ ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินถม ดาดหน้าด้วยคอนกรีต มีความยาวของสันเขื่อน 485 เมตร สูง 181 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 615 เมกกะวัตต์ หรือปีละ 2,218 ล้านหน่วย (เท่ากับผลิตไฟฟ้าให้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้ทั้งจังหวัด) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งมายังสถานีไฟฟ้าบ้านนาบง เพื่อส่งผ่านไปยังจุดจำหน่ายไฟฟ้าชายแดนไทยลาว ที่บริเวณบ้านจอมแจ้ง ก่อนเชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อขายให้กับการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคในราคายูนิตละ 2 บาท

นายกำธร ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนน้ำงึม 2 ว่าการสร้างเขื่อนำไฟฟ้าพลังน้ำที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ประเทศลาวที่ได้ประโยชน์จากรายได้ที่เกิดจากขายไฟฟ้าเข้าประเทศ โดยยังสามารถรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ ในส่วนของประเทศไทยก็รับอานิสงค์ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกตลอดอายุสัมปทานที่ยาว นาน 27 ปี ซึ่งสัมปทานนี้จะไปสิ้นสุดในปี พ.ศ.2580 เท่ากับว่าตลอดระยะเวลา 27 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าบริสุทธิ์สำรองเพิ่มขึ้นโดยที่แหล่งพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินก็ไม่ถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง

เมื่อพิจารณาในแง่ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ไฟฟ้าจากพลังน้ำมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานจาก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ส่งผลไปยังอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติน้อยมาก จึงเป็นประโยชน์โดยตรงกับคนไทยที่ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ได้รับเฉลี่ย 2.20-2.30 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าประเทศไทยในวันที่ 25 ธ.ค.2553 จะทำให้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าอัตราดังกล่าว

นอกจากนี้นายกำธรยังเปิดเผยว่า ในการนำเสนอโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าที่ ส.ป.ป.ลาวจะยอมเซ็นสัญญา เพราะทางรัฐบาลลาวต้องการความมั่นใจว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 นี้จะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้ง ส.ป.ป.ลาวและประเทศไทย 100% โดยที่ทาง ส.ป.ป.ลาว จะมีรายได้และเงินลงทุนสร้างเขื่อนอีกหลายพื้นที่ ตามแนวคิดของรัฐบาลลาวที่ประกาศจะผลักดันให้ ส.ป.ป.ลาวเป็น Battery of Asia ภายในปี พ.ศ.2563 ด้วยพลังงานการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกกะวัตต์

ไม่เพียงเท่านี้ ในแง่ของการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในพื้นที่ ผู้รับสัมปทานชาวไทยก็ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านราว 5,759 คน จาก 982 ครอบครัวใน 16 หมู่บ้าน ของเมืองไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ด้วยการสร้างเมืองใหม่โดยย้ายมาอยู่ที่เมืองเฟืองในแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีการพัฒนาและปรับพื้นที่ป่าให้กลายเป็นหมูบ้านจัดสรร 3 หมู่บ้าน พร้อมด้วยวัด โรงเรียน สถานีอนามัย ตลาดและถนนลาดยาง บนเนื้อที่ 2 ตารางกิโลเมตร ด้วยจำนวนเงินกว่า 400 ล้านบาท จนเป็นที่มาของความพอใจของผู้นำรัฐบาลลาว โดยยืนยันได้อย่างดีจากคำพูดของนายสราวุฒิ เสงี่ยมศักดิ์ ผู้แทนบริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กับรัฐบาลลาวว่า รัฐบาล ส.ป.ป.ลาวพอใจเป็นอย่างมากกับโครงการนี้ เพราะการสร้างเขื่อนไม่มีผลกระทบกับระบบนิเวศ และยังช่วยรักษาป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อนน้ำงึม 2 ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพใหม่ไม่ต่ำกว่า 15 อาชีพ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณคนไทยที่มาช่วยพัฒนาประเทศโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาในกรณีที่เขื่อนแตกนั้น นายสราวุฒิได้อธิบายว่า เขื่อนน้ำงึม 2 ออกแบบให้รองรับกับภัยธรรมชาติกรณีแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์หรือกรณีที่มีปริมาณน้ำมาก ก็จะมีระบบการระบายน้ำที่ดี แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่น้ำจะล้นเขื่อนมีน้อยมาก เพราะการสร้างเขื่อนในโครงการนี้ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ไม่ใช่ทำแค่ 1-2 วัน ปัญหานี้คงจะไม่เกิดกับเขื่อนนี้แน่นอน

ในอนาคตข้างหน้า นักลงทุนของไทยยังมีโครงการไชยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างฝายกั้นแม่น้ำโขง กำลังการผลิต 1280 เมกกะวัตต์ โดยจะมีการลงนามในสัญญาเดือน ต.ค.นี้ ด้วยมูลค่าโครงการสูงถึง 110,000 ล้านบาท ในระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนน้ำงึม 2 ถึง 2 เท่า

ไม่เพียงแต่ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดที่ทำให้โครงการสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 เป็นไปได้อย่างราบรื่นแล้ว เหตุผลที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ แรงสนับสนุนโดยปราศจากกระแสต่อต้านของคนในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมากกว่าผลประโยชน์ส่วน ตัว อันเป็นผลจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและการจัดการที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล เขื่อนน้ำงึม 2 ประสบความสำเร็จและเป็นที่ภูมิใจของคนลาว เพราะที่นั่นไม่ค่อยมี “ตัวถ่วง” จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเจริญเหมือนกับบ้านเรา

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=660&contentID=96756

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สร้างหมู่บ้านต้นแบบพลังงานทดแทน

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมนุษย์ทั่วโลกได้ใช้พลังงานทางธรรมชาติกันอยู่ทุกวัน ทั้งการหุงต้มที่เริ่มแรกมาจากการใช้ไม้ในการจุดไฟ ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ต่อมาก็มีการใช้ก๊าสหุงต้ม แต่ก็ยังคงสิ้นเปลืองพอ ๆ กัน ถัดมาก็เป็นการสร้างพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ให้แสงสว่าง นำมาใช้ให้เกิดพลังงานลมในเครื่องปรับอากาศ พัดลม รวมถึงการขุดเจาะน้ำมันจากใต้ผืนดินเพื่อเอามาใช้ในการขับขี่ยานพาหนะหรือ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ในเครื่องจักรต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างทำให้มนุษย์เกิดความสุขสบาย แต่สิ่งที่ทุกคนมองข้ามคือพลังงานเหล่านี้เป็นพลังงานสูญเปล่า สักวันหนึ่งอาจจะหมดไป ดังนั้นล่าสุดทางสถาบันวิจัยและพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้สร้างหมู่บ้านต้นแบบพลังงานทดแทนขึ้นเพื่อให้ เกิดจิตสำนึกกับประชาชน และช่วยกันรักษาธรรมชาติให้คงอยู่

ดร.พฤกษ์ อักกะรังษี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การทำหมู่บ้านต้นแบบแห่งแรกนี้ได้สร้างขึ้นที่หมู่บ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ โดยการสนับสนุนจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้เข้าร่วมโครงการทางด้านพลังงาน ในระหว่างปี 2550-2552 เพราะมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การเป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพด้านพลังงานมีจุด เด่นด้านผู้นำและความเข้มแข็งของชุมชนและได้รับการมอบหมายจากจังหวัดลำพูน ให้เป็นศูนย์เรียนรู้พลัง งานชุมชนด้วย ในส่วนที่สถาบันฯ ที่ได้เข้าไปให้การส่งเสริมและผลักดันหมู่บ้านแห่งนี้ ดำเนินการในด้านการผลิตพลังงานทดแทนต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนให้สร้างระบบก๊าซชีวภาพจากมูลโคขาว ซึ่งสามารถช่วยประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มได้มากถึงเดือนละประมาณ 13,000 บาท การ สร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้แล้ว ซึ่งช่วยประหยัดเงินการใช้น้ำมันดีเซลลงจากเดิมมาก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตน้ำดื่มภายในหมู่บ้านและการนำถ่านไม้มา ผลิตเป็นเชื้อเพลิงใช้สำหรับเครื่องยนต์การเกษตรการดำเนินงานที่ผ่านมานับ ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความร่วมมือจากกลุ่ม ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน รวมทั้งหน่วยงาน ต่าง ๆ ในการดำเนินงานด้านพลังงานของหมู่บ้านแห่งนี้ให้บรรลุเป้าหมายด้วยดี ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและ พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด

นายอยุธ ไชยยอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านไร่ป่าคา กล่าวว่า ปัจจุบันหมู่บ้านมีพลัง งานทดแทนใช้หลากหลายประเภท เช่น การสร้างระบบก๊าซชีว ภาพขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร จากมูลวัวหรือ ที่เรียกว่ามูล โคขาวลำพูน จำนวน 70 ตัว ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคจำนวน 20 คน ซึ่งมีแนวคิดว่าระบบก๊าซชีวภาพสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานได้ จริง จึงได้เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2545 ด้วยการสร้างระบบก๊าซชีวภาพที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทดแทนก๊าซหุงต้มได้ 23 กิโลกรัมต่อวัน เฉลี่ยสามารถประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มได้ประมาณเดือนละ 13,000 บาท นอกจากนั้นยังได้ปุ๋ยน้ำมาใช้รดหญ้า สำหรับใช้เลี้ยงวัว ประมาณ 4,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และได้ปุ๋ยอินทรีย์มาเป็นปุ๋ยใส่พืชผลทางการเกษตรอีกประมาณ 14,400 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนั้นแล้ว ยังสร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันที่ใช้แล้ว โดยอัตราการผลิตของเครื่องสามารถผลิตไบโอดีเซลได้วันละ 150 ลิตร แล้วนำไปเติมเครื่องยนต์การเกษตรทดแทนการซื้อน้ำมันดีเซลจากภายนอก โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพง ไบโอดีเซลเป็นที่ต้องการของชุมชนมาก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านได้มากถึงปีละ 70,000 บาท อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ยังพยายามคิดหาพืชพลังงานอื่น ๆ เพื่อมาทดแทนวัตถุดิบจากน้ำมันที่ใช้แล้ว โดยช่วยกันคิดหาพืชน้ำมันมาทดแทน เพราะคิดว่า ถ้าพึ่งพาน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงงานเป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว หากขาดแคลนหรือราคาสูงก็จะทำให้ขาดวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล จึงรวมกลุ่มกันช่วยกันคิดและหันมาปลูกดอกทานตะวันเพื่อนำมาหีบน้ำมันผลิต เป็นไบโอดีเซล ซึ่งนอกจากจะได้น้ำมันแล้วยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมอาชีพด้วยและดอก ทานตะวันจำนวนมากยังช่วยให้หมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วยและที่นี่ยัง มีโครงการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายอย่างเลยทีเดียว เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำบาดาลขึ้นมาผลิตเป็นน้ำดื่มขายในหมู่บ้านทำ ให้ชาวบ้านได้ซื้อน้ำดื่มในราคาที่ถูกลง ปกติน้ำดื่มทั่วไปจะขายถังละ 12 บาท (มีน้ำปริมาณ 20 ลิตร) แต่หลังจากทางหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำบาดาลขึ้นมาผลิตเป็นน้ำ ดื่ม สามารถจำหน่ายให้ชาวบ้านได้ในราคาเพียงถังละ 5 บาท ถูกกว่าน้ำดื่มที่ขายทั่ว ๆ ไปเยอะเลย และยังมีเงินจากการจำหน่าย น้ำดื่มเหลือเข้าหมู่บ้านอีกเดือนละ 4,000-5,000 บาท นอกจาก นั้นทางหมู่บ้านเรายังสร้างเตาชีวมวลซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากแกลบและ ถ่านไม้ ซึ่งหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ในงานส่วนรวมทำให้สามารถประหยัดค่าแก๊ส แอลพีจีได้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้วหากมีงานภายในหมู่บ้านจะสิ้นเปลืองค่าแก๊สโดยเฉลี่ย 3 ถัง รวมเป็นเงินประมาณ 900 บาท (ถังละ 15 กิโลกรัม) แต่หากทดแทนด้วย การใช้เตาชีวมวลแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 45 บาท คิดค่าแกลบ ประมาณ 30 กิโลกรัม (แกลบราคา 1.5 บาทต่อกิโลกรัม) หรือหากใช้เชื้อเพลิงเป็นถ่านไม้ก็จะเสียเงินซื้อถ่านเพียง 1 กระสอบ ค่าใช้จ่ายเพียง 200 เท่านั้น นอกจากนั้นยังสามารถนำถ่านไม้มาใช้ผลิตเป็นก๊าซเชื้อเพลิงสำหรับรถอีแต๋นและ รถ มอเตอร์ไซค์ได้อีกด้วย

นายอยุธ กล่าวว่าโครงการพลังงานต่าง ๆ ช่วยทำให้พวกเราได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าลงได้ เยอะมาก วันนี้พวกเราภูมิใจที่ได้เป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของ ภาครัฐและของประเทศที่ต้องการให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประ สิทธิภาพรู้คุณค่าเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางคณะทำงานผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ต้องขอขอบคุณ กระทรวงพลังงานและสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ทางด้านพลังงานให้แก่ชุมชนแห่งนี้

เห็นความพยายามพึ่งตัวเองของคนในชุมชนบ้านไร่ป่าคา แล้วก็ต้องยกหมู่บ้านแห่งนี้ให้เป็น หมู่บ้าน ที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานทดแทนอย่างแท้จริง ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ได้นำพลังงานทดแทนที่ผลิตได้มาใช้ในชีวิต ประจำวัน และหมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็นหมู่บ้านพลังงานต้นแบบที่สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ สามารถใช้พลังงานที่ตนมีอยู่อย่าง มีประสิทธิภาพลบแนวความคิดของชุมชนในด้านการคิดว่าพลังงานเป็นเรื่องไกลตัว ให้กลายเป็นการปลูกจิตสำนึกด้านพลังงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์แนวร่วมในการ อนุรักษ์พลังงาน และก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการหันมาใช้พลังงานทดแทนอย่างมี ประสิทธิภาพในระดับหมู่บ้านขยายสู่ตำบลและสู่วงกว้างไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับประเทศชาติต่อไป.

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

เยอรมนีประเทศต้นแบบพลังงานทดแทนของโลก

“เยอรมนี” นอกจากเป็นประเทศที่มีหมอดูแม่น ๆ อันดับ 1 ของโลกอย่าง “ปลาหมึกพอล” แล้ว ยังเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับ 1 ด้านการใช้ “พลังงานทดแทน” ของโลกด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ รัฐบาลเยอรมนีส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง รวมถึงทุ่มทุนทรัพย์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่ กังหันลม (วินด์ พาวเวอร์) พลังงานชีวภาพ (ไบโอ เอ็นเนอร์จี้) พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ เซลล์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทั่งกระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (ซีซีเอส) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน!!

เนื่องจากประเทศเยอรมนี เป็น 1 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม (จี 8) ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และใช้พลังงานจากน้ำมันสูงมาก โดยสูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว รวมถึงนำเข้าพลังงานน้ำมันกว่า 90% แต่ขณะเดียวกันเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติถ่านหินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นอันดับ 4 ของโลก จึงได้ทำข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มจี 8 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการหันมาพัฒนาพลังงานทดแทน และขณะนี้ได้ครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานทดแทนมากที่สุดในกลุ่มสหภาพ ยุโรปไปแล้ว

ด้วยศักยภาพข้างต้น ทำให้ “วีระพล จิรประดิษฐกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำคณะสื่อมวลชนบุกไปศึกษาแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย จึงทำให้ทราบว่า เยอรมนีจริงจังเรื่องเหล่านี้มาก ถึงกับออก “กฎหมายแหล่งพลังงานหมุนเวียน” อย่างชัดเจน และ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 12.5% ในปี 53 ก่อนจะเพิ่มเป็น 20% ในปี 63 และเป็น 50% ในอีก 30 ปีถัดไป พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการเครือข่ายส่งไฟฟ้า รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน และประกันอัตรารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำในรูปฟีดอินทารีฟส์ (ค่าไฟอัตราพิเศษ)

ทั้งนี้มีโครงการสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล คือ “ยึนเดอร์” ที่เมืองเกิททิงเงน เป็นโครงการหมู่บ้านพลังงานชีวภาพ (ไบโอ เอ็นเนอร์จี้ วิลเลจ) จากมูลวัวและมูลสุกรร่วมกับเศษพืชผักพืชไร่ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ส่งผลให้อีก 16 หมู่บ้านเริ่มที่จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

หมู่บ้านพลังงานชีวภาพ “ยึนเดอร์” นับเป็นแห่งแรกในเยอรมนี ที่ผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าจากชีวมวล ด้วยการหมักมูลวัวและมูลสุกร ร่วมกับเศษพืชผัก พืชไร่ในหมู่บ้าน มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5.4 ล้านยูโร ซึ่งกระทรวงอาหารเกษตรกรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลเยอรมนีให้เงินฟรี ๆ 1.3 ล้านยูโร ที่เหลือเป็นส่วนของภาคเอกชนที่สนใจ และชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการโดยการเป็นสมาชิกสหกรณ์ เสียค่าธรรมเนียม 1,500 ยูโร เพื่อให้มีสิทธิในการออกเสียง

ความร้อนที่ได้ จะถูกส่งไปยัง 145 ครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์ฯ โดยการผ่านท่อส่งความร้อนของเขต ส่วนไฟฟ้าที่ได้จะขายไปยังระบบไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งผู้ประกอบการสายส่งไฟฟ้าจะรับซื้อไฟและประกันอัตรารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ ในราคา 17 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากทำให้สมาชิกฯ ได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงแล้ว ยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละกว่า 3,300 ตัน และลดการใช้น้ำมันได้ปีละ 400,000 ลิตร รวมทั้งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้จากช่วงแรกที่มีประชาชนเข้าร่วมเพียง 60% แต่พอผ่านไป 3 เดือน เพิ่มเป็น 70% แล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นโครงการของชุมชนตนเอง

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย สนพ.ระบุชัดเจนว่า แนวคิดในการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น จะพยายามให้มาจากแนวคิดของชาวบ้านเองว่าต้องการอะไร และจัดการกันเอง ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เริ่มสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ผลิตจากผู้ผลิตขนาดเล็กมาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้แต่ละหมู่บ้านผลิตพลังงานใช้เอง จากวัตถุดิบในพื้นที่ เช่นที่ จ.พัทลุง รัฐเข้าไปสนับสนุนใช้ชาวบ้านนำขี้หมูมาผลิตพลังงานชีวมวล แล้วต่อท่อส่งเป็นก๊าซหุงต้มไปตามบ้านให้ชาวบ้านใช้ฟรี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดปัญหากลิ่นขี้หมูรบกวน

หรือที่หมู่บ้านใน จ.เชียงใหม่ ก็ใช้ขี้หมูมาผลิตพลังงาน ที่จ.ลำพูน ผลิตไบโอดีเซล และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทั้งนี้ยอมรับว่า ยังไม่สามารถพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบเหมือนยึนเดอร์ได้ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ลงทุนให้ประชาชนจึงขาดการมีส่วนร่วม ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ แม้ว่าขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ศึกษาและทดลองหลายโครงการ แต่ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่น ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สนพ. ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงไปศึกษาพัฒนาให้ “เกาะกูด” เป็นเกาะแห่งพลังงานทดแทน (กรีน ไอร์แลนด์) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดีเซลที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้าบนเกาะ โดยศึกษาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งโซลาร์เซลล์จากน้ำตก กังหันลม เพราะชาวบ้านบนเกาะต้องซื้อไฟที่ปั่นจากดีเซลหน่วยละ 15-20 บาท แต่หาก กฟภ.ลงทุน ขณะนี้ยังมีต้นทุนแพงกว่าค่าไฟฟ้าทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับชุมชนในพื้นที่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

โดยภาพรวมแล้ว เมืองไทยวางแผนพลังงานหมุนเวียนกำหนดอย่างชัดเจน ในแผนพลังงานทดแทน แต่ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย และกำลังศึกษาว่าจะนำระบบฟีดอินทารีฟส์ มาใช้ทดแทนระบบแอดเดอร์ได้อย่างไร โดยในส่วนของแอดเดอร์ที่จะปรับเป็นโครงการแรก คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่จะใช้รูปแบบฟีดอินทารีฟส์ เนื่องจากหากใช้แอดเดอร์แล้ว พบว่าผู้ประกอบการเอกชนจะได้กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนาจนทำให้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าลดลง แต่จะเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน ที่จะมีภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติถึง 23 สตางค์ ขณะที่ระบบฟีดอินทารีฟส์ นั้นเอกชนจะได้ค่าไฟฟ้าคงที่ เพราะไม่ได้บวกรวมในค่า เอฟที ที่ผันแปรไปตามราคาน้ำมันและกระทบต่อประชาชนน้อยกว่า

ส่วนเรื่องการประหยัดพลังงานนั้น อนาคตภาครัฐต้องมีมาตรการบังคับ หรือกึ่งบังคับออกมาเพิ่มเติม ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นให้ประหยัดพลังงาน หลังจากที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นเพื่อให้เกิดแรง จูงใจเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีระบบดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่ และเก็บก๊าซฯไว้ใต้ดินอย่างปลอดภัย (ซีซีเอส) ของ บริษัท วัตเท่น ฟอส์ ด้วยเทคโนโลยีการสันดาปเชื้อเพลิงด้วยออกซิเจน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูงมาก ถึง 16 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า รวมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากการเมืองและการเงิน ที่สำคัญคือการยอมรับจากประชาชนในการอัดก๊าซคาร์บอนกลับเข้าไปในชั้นใต้ดิน คาดว่าคงต้องพัฒนาอีกกว่า 10 ปี จึงจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ จึงยังไม่เหมาะสมกับเมืองไทยเท่าใดนัก

ส่วนพลังงานจากกังหันลมนั้น อาจใช้ได้กับเมืองไทยเพียงบางพื้นที่ และบางเวลาเท่านั้น เนื่องจากไม่มีลมแรงเหมือนต่างประเทศ ที่จะส่งให้กังหันหมุนแล้วกักเก็บพลังงานไว้ใช้ได้ แม้กระทั่งที่ลำตะคอง จะมีลมหมุนกังหันได้ก็ช่วงตี 2 ถึงตี 3 เท่านั้น ดังนั้นจึงเหลืออีกทางเลือกเดียวที่เห็นว่า น่าจะเหมาะสมกับการนำมาปรับใช้กับเมืองร้อนได้มากที่สุด นอกจากไบโอ เอ็นเนอร์จี้ วิลเลจแล้ว นั่นคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์นั่นเอง แต่ย้อนกลับมาดูนโยบายโซลาร์ เซลล์ของรัฐบาลไทยแล้ว ก็ต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะปัจจุบัน มีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทาน แถมยังเกี่ยวโยงสายสัมพันธ์กับนักการเมืองด้วย จึงทำให้ต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สูงมาก กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนเมิน!

ครั้นจะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า การประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด คือการไม่ใช้พลังงาน ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ในยุคที่ไทยต้องพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมต่างชาติ ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับทั้งรัฐบาล องค์กรต่าง ๆ รวมถึงประชาชน ว่ามีทัศนคติต่อการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่า และเน้นการหันมาใช้พลังงานทดแทนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ประเทศไทยคงจะพึ่งปลาหมึกพอลไม่ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเริ่มลงมือทำจริงจัง ก่อนที่พลังงานในโลกจะหมดลง.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentId=92192&hilight=%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

โลกต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตพลังงาน

ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนไหวของต่อการขาดความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต เนื่องจากปัญหาหลายด้าน อาทิ โครงสร้างการบริโภคพลังงานที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วน ใหญ่ โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้าสูงถึงร้อยละ 95 ของปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ กิจกรรมการใช้พลังงานที่ด้อยประสิทธิภาพทั้งในภาคการขนส่งและภาคการผลิต กลไกตลาดพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นผลจากการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งความท้าทายจากความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ด้านพลังงาน

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้เตรียมการรองรับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยเน้นหนักด้านการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้น ทั้งการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานฟอสซิลทั้งในและต่างประเทศ และการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน การสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) การแทรกแซงกลไกราคาพลังงานโดยกองทุนน้ำมัน การกระจายสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานชนิดต่างๆ ตลอดจนการจัดการด้านอุปสงค์ ทั้งโดยการลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผม นโยบายทั้งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและแผนในอนาคตยังไม่เพียงพอที่จะเป็น หลักประกันได้ว่า ประเทศไทยจะไม่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางพลังงานในอนาคต ผมจึงขอนำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน คือ “การทูตว่าด้วยพลังงาน”

ในอนาคตระยะสั้นถึงระยะกลาง ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก และยังต้องเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิอยู่ต่อไป เพราะไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศเพียงพอสำหรับความต้องการ ขณะที่การปรับโครงสร้างการใช้พลังงานไปสู่การใช้พลังงานทดแทนนั้นยังต้องใช้ เวลายาวนาน เช่นเดียวกับการนำพลังงานชนิดใหม่มาใช้ โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ยังมีกระแสต่อต้านที่รุนแรงมาก หรือพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานไฮโดรเจนที่ยังมีต้นทุนสูง

แต่การเข้าถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตจำเป็นต้องใช้การทูตหรือความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดน้ำมันโลกมีผู้ผลิตน้อยราย (oligopoly) ทำให้อำนาจต่อรองอยู่ที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความต้องการใช้ พลังงาน ทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อการได้มาซึ่งพลังงาน โดยเฉพาะประเทศจีนได้พยายามดำเนินการเจรจาและร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จำนวนมาก รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งมีนโยบายต่อ ต้านสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการของตน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์การทูตว่าด้วยพลังงานที่ชัดเจน

ผม เห็นว่าไทยมีช่องทางในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตว่าด้วยพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ส่งเสริมการลงทุนจากประเทศผู้ผลิตพลังงาน

ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้จากการ ขายน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล ประเทศไทยจึงควรส่งเสริมให้รัฐบาลหรือนักลงทุนจากประเทศเหล่านี้นำเงินเข้า มาลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปลายน้ำของอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ธุรกิจจัดจำหน่ายพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้ประเทศผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำมันมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของอุตสาหกรรม พลังงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่า ประเทศผู้ส่งออกพลังงานจะพยายามจัดหาพลังงานมาให้กับอุตสาหกรรมพลังงานใน ประเทศไทยอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในฐานะเจ้าของธุรกิจพลังงานในประเทศไทย


แลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

ในอนาคต โลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตการณ์พลังงานและวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ในภาวะความเสี่ยงดังกล่าว ประเทศไทยควรใช้ความได้เปรียบในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของ โลก ดำเนินการเจรจากับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ เพื่อแลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น การทำข้อตกลงว่าหากเกิดวิกฤตการณ์พลังงานหรือวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ทั้งสองประเทศจะจัดส่งพลังงานหรืออาหารให้กันและกันในปริมาณที่เพียงพอและ ระดับราคาที่เหมาะสม หรือการเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจพลังงานและธุรกิจอาหารระหว่างกัน ทั้งนี้กรณีที่มีนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ต้องการเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรในประเทศไทย สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีความตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร

ตั้งสำรองพลังงานระหว่างประเทศ

หลายประเทศทั่วโลกมีการสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่ง เช่น ประเทศสมาชิกของ International Energy Agency 28 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) สำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ขั้นต่ำ 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันของแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาสำรองน้ำมัน 158 วัน ญี่ปุ่น 161 วัน เยอรมนี 117 วัน ฝรั่งเศส 96 วัน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยมีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ 70 วันของปริมาณการบริโภคในประเทศ แต่การสำรองน้ำมันดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานสำหรับ ประเทศไทยเท่านั้น

ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรเจรจากับประเทศที่เป็นยุทธศาสตร์ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะให้สิทธิพิเศษในการซื้อขายน้ำมันสำรอง ให้แก่ประเทศสมาชิกก่อนประเทศอื่น ในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน แนวทางนี้มีหลักการคล้ายกับการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ประเทศอื่นได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทั้งนี้แนวทางในการตั้งสำรองพลังงานระหว่างประเทศอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำมันที่ประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิแรก (first right) แก่ประเทศไทยในการซื้อน้ำมันจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ การอนุญาตให้ประเทศสมาชิกตั้งคลังน้ำมันสำรองในประเทศไทย โดยที่ให้สิทธิพิเศษกับประเทศไทยในการซื้อน้ำมันสำรองดังกล่าว เป็นต้น

ประเด็น สำคัญคือการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่างซาอุดิอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลมิควรดำเนินการใดๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งเลวร้ายลงอีก

ในอนาคต โลกต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งในภาวะวิกฤต กลไกตลาดอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศจำเป็นต้องให้ความ สำคัญกับยุทธศาสตร์การทูตว่าด้วยการพลังงาน โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศผู้ ผลิตน้ำมันทั่วโลก

ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=646&contentId=92407&hilight=%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อมฝีมือคนไทย

ทุกวันนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า “อีเวสต์” (e-waste) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียและเสื่อมสภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานแล้ว กำลังมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันและถือเป็นสิ่งที่กำจัดทิ้งได้ยาก พราะเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคน รวมถึงมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่คนไม่ต้องการนั้นชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก ถือเป็นวัสดุที่ย่อยสลายเองได้ยากหรือต้องใช้เวลานาน ซึ่งในภาวะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน มีการรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มีการพูดถึงกันมากก็คือการนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการ รีไซเคิล

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ ของใช้ที่เป็นพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันกำลังเป็นปัญหาที่แก้ยากขึ้น เพราะปริมาณความต้องการใช้พลาสติกกลับไม่เคยลดลง ตราบเท่าที่เรายังต้องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเหล่านี้ อยู่ แต่สิ่งที่ทุกคนร่วมมือทำกันได้ก็คือ ช่วยกันลดปริมาณการใช้ให้น้อยลงและใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อลดปัญหาที่จะเพิ่ม มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนการใช้พลาสติก หรือการทำพลาสติกที่ ย่อยสลายได้ในเวลาไม่นานและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการการผลิต การนำไป ใช้ และการย่อยสลาย ซึ่งก็ได้มีการทำการวิจัยคิดค้นจนเป็นผลสำเร็จแล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้ คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Electronic Parts Made from Environmental Friendly Plastics) ผลงานของ นางวีราภรณ์ ผิวสอาด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งยังได้ไปคว้าเหรียญเงินจาก การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยสตรีในงาน Korea International Women's Invention Exposition 2010 (KIWIE 2010) ประเทศเกาหลีใต้ มาด้วย

นางวีราภรณ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็ก ทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่นำพลาสติกเข้ามาใช้ โดย ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก ที่เรียกว่า พลาสติกวิศวกรรม ได้แก่ Acylonitrile-butadiene-styrene (ABS) หรือ Polycarbonate (PC) เป็นต้น ซึ่งเมื่อใช้แล้ว ทิ้งเป็นขยะสู่สิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ปริมาณที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนอย่างที่ กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
งานวิจัยที่ทำขึ้นเป็นการนำพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาใช้ทดแทน พลาสติก กล่าวคือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นพลาสติกที่เตรียมจากสารตั้งต้นที่มาจาก ธรรมชาติ พวก biomass เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด นำมาผ่านกระบวนการหมักและกระบวนการพอลิเมอไรเซชั่นได้เม็ดพลาสติก จากนั้นจึงนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็ได้ทดลองทำงานขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนเลนส์โฟกัสของเครื่องฉายภาพ

จากนั้นได้ทำการทดสอบ พบว่าหลังการใช้งานเมื่อเป็นขยะที่ทิ้งปนในสิ่งแวดล้อมสามารถย่อยสลายได้ ด้วยจุลินทรีย์ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และจากการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ จะขับถ่ายออกมาเป็น Co2 และน้ำ ที่พืชนำกลับไปใช้เป็นอาหารในการสังเคราะห์แสงด้วย จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการย่อยสลายไม่ได้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด ์สู่สภาวะสิ่งแวดล้อมเลย นอกจากนี้หากมีการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น ยังจะเป็นผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชอีกด้วย

ทั้งนี้ใครจะคิดว่า พืชจำพวก อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะกลายสภาพมาเป็นพลาสติกได้ ที่สำคัญพลาสติกที่ผลิตได้ จากพืชเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ความสำเร็จครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แบบยั่งยืนให้กับประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=79915

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปลี่ยนความหวานเป็นพลังงานชีวมวล

เสร็จสิ้นไปแล้วในเฟสแรกสำหรับภารกิจการแก้ไขปัญหาลำไยค้างสต๊อก ตั้งแต่ปี 2546-2547 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับอาสานำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการแปรสภาพลำไยค้างสต๊อก กว่า 46,000 ตัน ให้กลายมาเป็น “เชื้อเพลิงชีวมวล” สร้างรายได้คืนกลับเข้ารัฐ แทนที่จะเสียแต่ค่าทำลายและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

“ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า ขณะนี้การดำเนินงานในเฟสแรกคือ บดลำไยหน้าโกดัง 60 แห่ง ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล คาดว่าสามารถนำออกจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นเงินรายได้คืนสู่ภาครัฐไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ทีเดียว

โครงการนี้นอกจากจะแปรสภาพลำไยค้างสต๊อกที่เน่าเสียให้มาเป็นเชื้อเพลิงและ ทำให้รัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังเพื่อจัดเก็บแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อลำไยในต่างประเทศว่าจะ ไม่มีการปลอมปนลำไยค้างสต๊อก ช่วยทำให้ราคาลำไยที่ส่งออกสูงขึ้นอีกด้วย
และความสำเร็จที่ได้มานี้... ปฏิเสธไม่ได้กับความสำคัญของเทคโนโลยีที่นำมาใช้แก้ไขปัญหา

ดร.รังสรรค์ ทองทา อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (มทส.) บอกว่าได้รับมอบหมายจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ร่วมมือกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย พัฒนาเครื่องจักรเพื่อดำเนินการรีไซเคิลลำไยอย่างบูรณาการทั้งด้านวิชาการ และวิศวกรรมศาสตร์

ซึ่งเทคโนโลยีหลักที่ใช้ก็คือ เครื่องบดย่อยหน้าโกดัง และเครื่องอัดแท่งชีวมวลที่เป็นการพัฒนาต่อยอดเครื่องจักรในโครงการวิศวกรรม ย้อนรอย
นอกจากนี้ยังมีการนำเทค โนโลยีมาใช้ในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจนับจำนวนและปริมาณลำไยจากโกดังด้วยเทคโนโลยีอาร์เอฟไอ ดี ซึ่งมีการขนกล่องใส่รถเข็นผ่านระบบเครื่องชั่ง มาตรฐานพร้อมให้คนงานแตะบัตรที่เป็นของตัวเอง ทำให้ข้อมูลทั้งจำนวนกล่องและน้ำหนักลำไยถูกส่งผ่านคอมพิวเตอร์ มีการพิมพ์รายละเอียดลงบนกระดาษคาร์บอนเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปเก็บยังเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางโดยระบบส่ง ผ่านข้อมูลผ่านดาวเทียม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูการทำงานผ่านเว็บไซต์ติดตามผลได้ทันที

และเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดไร้สายครอบคลุมพื้นที่การทำงานทั้งหมด บันทึกตลอดระยะเวลาการทำงาน และใช้ระบบจีพีเอส แทร็คกิ้งติดตามรถขนส่งต่าง ๆ

สำหรับการดำเนินงานในเฟสสอง ดร.รังสรรค์ บอกว่า จะเป็นขั้นตอนของการพัฒนาเป็นชีวมวล ซึ่งมีการลำเลียงลำไยที่บดย่อยแล้วไปสถานที่ผลิต 2 จุดใหญ่ คือ ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งสมาคมเครื่องจักรกลไทยเป็นผู้ดำเนินการ และที่จังหวัดสระบุรี มทส.เป็นผู้ดำเนินการ

โดยเครื่องอัดแท่งชีวมวลจะทำการอัดแท่งลำไยที่บดแล้วขึ้นรูปเป็นพิวเล็ต (pillet) หรือเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ พร้อมใช้ในอุตสาหกรรมและโรงอบลำไยต่าง ๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งในส่วนของ มทส.ที่สระบุรี ได้ตกลงจำหน่ายเชื้อเพลิงดังกล่าวกับภาคอุตสาหกรรมคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะนำไปใช้ที่โรงงานแก่งคอยและท่าหลวง

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=478&contentID=79378

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ปั่นไฟได้กำลัง 10 วัตต์ รับประทานอาหารฟรี 1 มื้อ

โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเดนมาร์กอาสานำร่องกับแผนการใช้เครื่องปั่นไฟด้วย แรงปั่น หวังให้ประเทศอื่น ๆ นำไปใช้เป็นแบบอย่างเพื่อเรียกลูกค้า

เดอะ คราวน์ พลาซ่า โคเปนเฮเกน ทาวเวอร์ ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงของเดนมาร์ก ก็แค่เดิน 15 นาทีเท่านั้น และห่างจากสนามบิน 5 นาทีเท่านั้นก็ถึง ดังนั้นทำเลถือว่าได้เปรียบอย่างมาก โรงแรมแห่งนี้มีเครื่องปั่นไฟ 2 เครื่อง ซึ่งต้องใช้แรงปั่นเหมือนกับจักรยานออกกำลังกาย

แขกที่มาพักจะได้รับการเชิญชวนให้ลองปั่นดู หากใครปั่นแล้วได้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอกับเขาต้องการ ก็จะแถมอาหารให้ 1 มื้อฟรี จะเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน มิ.ย. พวกแขกที่มาพักก็จะต้องแข่งกันใช้บริการตรงนี้ นอกเหนือไปจากระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ ของโรงแรม ซึ่งมีห้องพักทั้งหมด 366 ห้อง

ใครก็ตามที่สามารถปั่นไฟได้กำลัง 10 วัตต์ ก็จะได้รับบัตรสมนาคุณรับประทานอาหารฟรี 1 มื้อ ไม่เพียงแต่จะได้ออกกำลังกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดโลกร้อน ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และที่สำคัญประหยัดเงินได้อีกด้วย

โฆษกของโรงแรมย้ำว่า อาหารฟรี 1 มื้อนั้น เฉพาะแขกที่มาพักเท่านั้น พวกขาจรหมดสิทธิ สำหรับอาหารฟรีนั้นแขกสามารถเลือกได้เลยว่า จะรับที่ห้องอาหาร ของโรงแรมหรือห้องล็อบบี้ มูลค่านั้นอยู่ที่ 240 โครน ( 44 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ตกประมาณ 1,430 บาท)

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=48&contentID=61810

อินโดนีเซียเริ่มใช้พลังงานจากภูเขาไฟ

อินโดนีเซียได้เริ่มแผนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือนำเอาพลัง มากมายมหาศาลจากภูเขาไฟจำนวนมากของตนมาใช้ประโยชน์ และเป็นผู้นำโลกในด้านภพลังงานความร้อนใต้พิพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย

หมู่เกาะที่เรียงรายด้วยเกาะถึง 17,000 เกาะ ทอดยาวจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก มีภูเขาไฟอยู่หลายร้อยลูก ประมาณกันว่าจะมีพลังงานความร้อนใต้พิภพคิดเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานดังกล่าวทั่วโลก แต่จนถึงขณะนี้มีการปลดปล่อยมาเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิเหนาจึงพยายามแสวงหาความช่วยเหลือจากนักลงทุนเอกชน ธนาคารโลกและหุ้นส่วนอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำพลังงานที่ซ่อนอยู่ใต้ดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์

สุรยา ดาร์มา ประธานสมาคมพลังงานความร้อนฯของอินโดนีเซียเผยว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่จะเพิ่มศักยภาพด้านพลังงานฯอีก 4,000 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่เดิม 1,189 เมกะวัตต์ ภายใน ปี 2557 “ถือเป็นเรื่องท้าทาย” อุปสรรค สำคัญอันดับแรกคือค่าใช้จ่าย ปัจจุบันอินโดนีเซียพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินสกปรกในการเผา โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯมีราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 เท่า และอาจใช้เวลาอีกหลายปีในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ใช้งานได้ และการจะเพิ่มอีก 4,000 เมกะวัตต์ต้องลงทุนอีก 12,000 ล้านดอลลาร์ฯ ดาร์มา กล่าว

แต่ทันทีที่สร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯแบบเดียวกับที่คาโมจัง ชวา เมื่อปี 2525 สามารถเปลี่ยนความร้อนจากภูเขาไฟที่ไม่มีวันหมด ให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองโสหุ้ยน้อยกว่า และมีมลพิษน้อยกว่าถ่านหิน และนี่ถือเป็นจุดเด่นที่รัฐบาลหวังจะเอาไปขายในการประชุมนาน 6 วัน ว่าด้วยพลังงานความร้อนฯโลกครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มไปแล้วที่เกาะบาหลีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

หากจะมีประเทศใดในโลกนี้ ที่พลังงานความร้อนฯเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลที่สุด ก็อินโดนีเซียนี่แหละ แต่แม้จะได้เปรียบทางธรรมชาติ อินโดนีเซียยังคงล้าหลังสหรัฐและฟิลิปปินส์ด้านการผลิตพลังงานความร้อนฯ ประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก สุดเป็นอันดับสามของโลกใช้ประโยชน์ แหล่งพลังงานความร้อนฯเพียงแค่ 7 แห่ง เท่านั้น จากจำนวนมากกว่า 250 แห่ง ที่สามารถพัฒนาได้

เหตุผลที่จะหันมาใช้พลังงานความร้อนฯเพิ่มมากขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของอินโดนีเซีย และสอดคล้องกับความเสื่อมทรุดของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หมู่เกาะพร้อมประชากร 234 ล้านคนแห่งนี้ นับเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดของกลุ่มจี-20 แต่ปัจจุบันชาวอิเหนาเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เข้าถึงไฟฟ้า เป้าหมายคือจะต้องให้ถึงประชากร 90 เปอร์เซ็นต์ภายในปลายทศวรรษนี้

คำมั่นของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโฮโยโน ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 25 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 ยิ่งกระตุ้นให้มีการผลักดัน พลังงานความร้อนใต้พิภพมากยิ่งขึ้น การเจรจาโครงการ 340 เมกะวัตต์บนเกาะสุมาตราเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการซารุลลาจะเป็นโครงการโรงงาน พลังงานความร้อนฯใหญ่สุดเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย ต่อจากโรงไฟฟ้า วายัง วินดู ในชวาตะวันตก.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=31&contentID=62086

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากน้ำ

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงนามในสัญญาความร่วมมือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เป็นโครงการนำร่อง ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำที่เหลือจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล

โดยโครงการนี้ จะใช้พื้นที่ของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมัน กระบี่ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 39 หมู่ 1 ใน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ มีเนื้อที่ 3.5 แสนไร่ ทำการผลิตก๊าซชีวภาพ และผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 95 ล้านบาท มีอายุโครงการ 15 ปี

ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในปี 2553 นี้ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์หลายประการ อาทิ ลดการนำเข้าปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน และช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนในการจ้างงาน เป็นต้น

สำหรับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม น้ำมันกระบี่ จำกัด นั้นได้จดทะเบียน สหกรณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 ทุนจดทะเบียน 60,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ โครงการก่อสร้าง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 270 ล้านบาท ตามแผนโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 โดยได้รับอนุมัติเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรจำนวน 270 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง สิ้นสุดโครงการก่อสร้างวันที่ 11 มีนาคม 2547 และได้เปิดดำเนินการรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันจากสหกรณ์สมาชิกเมื่อเดือน มีนาคม 2547 เป็นต้นมาจวบจน ทุกวันนี้

จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 8 แสนไร่ ให้ผลผลิตปีละ 2 ล้านตัน โดยที่มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 18 โรง มีน้ำเสียวันละ 7,200 ลูกบาศก์เมตร และเพื่อเป็นการลดมลพิษซึ่งจะมี ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม จึงได้มีการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมาผลิตเป็นแก๊สชีวภาพเพื่อผลิตกระแส ไฟฟ้า นำมาใช้ในโรงงาน และที่เหลือ ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสามารถลดกลิ่นเหม็นลดความสกปรกของน้ำเสียได้มากกว่า 90% อีกด้วย

พร้อมกันนี้ทางจังหวัดกระบี่ ยังได้จัดทำโครงการกระบี่เมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งส่งผลให้ เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มจากการสกัดลดลง ล่าสุดได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้น โดยมีผู้เข้าสัมมนาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ผู้แทนลานเท และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จากทั้ง 8 อำเภอ ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการ สกัดไม่น้อยกว่า 18% และร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจรต่อไป.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=61162

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์

บ้านแม่อ้อใน ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดเชียง ใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประชากรในพื้นที่เป็นชนพื้นเมือง และชนเผ่าต่าง ๆ เช่น เผ่าลีซอ ลาหู่ และไตใหญ่ จำนวนมากกว่า 347 หลังคาเรือน ชุมชนแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากกลิ่นของมูลสุกรจำนวนมาก ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน และคาร์ บอนไดออกไซด์ เป็นแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จากมูลหมูไร้ค่า แถมยังส่งกลิ่นให้ในชุมชน ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพ สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อแก๊สหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนเดือนละหลายร้อยบาท เลยทีเดียว

นายสมศักดิ์ ปวงลังกา ผู้ใหญ่บ้านแม่อ้อใน และยัง เป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรเกือบพันตัว เปิดเผยว่า การเลี้ยงสุกร แม้มีรายได้งดงาม แต่ต้องอดทนต่อเสียงต่อว่าของชาวบ้าน เพราะมูลของสุกรส่งกลิ่นรบกวน รวมทั้งยังมีกองทัพแมลงวัน ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ชาวบ้าน 150 ครัวเรือน ได้เข้าร้องเรียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ย้ายฟาร์มหมูออกจากพื้นที่ จึงหาทางออกอยู่นาน ในที่สุดเมื่อได้เดินทางไปร่วมงานสัมมนากับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2550 และทราบว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้เงินทุนสนับสนุนเงินลงทุนสร้างบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนับเป็นโอกาสดี

ผู้ใหญ่บ้านแม่อ้อใน เปิดเผยอีกว่า ต่อมาจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์” กับทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ รับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ จากทางโครงการฯ จำนวน 241,250 บาท และงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 841,250 บาท ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลาง 250 ลูกบาศก์เมตร

ซึ่งทำให้ฟาร์มสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปริมาณ 70-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และได้นำมาใช้เป็นก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้านได้ใช้กันอย่างถ้วนหน้า รวมจำนวนมากกว่า 100 ครัวเรือน นอกจากนั้น ยังได้นำไปให้ทางวัด และโรงเรียนในหมู่บ้านใช้ด้วย ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าก๊าซหุงต้มได้มาก จากเดิมที่แต่ละครัวเรือนเคยซื้อก๊าซหุงต้มใช้เฉลี่ย 160 บาทต่อเดือน แต่หลังจากใช้ก๊าซชีวภาพจากทางฟาร์มทดแทนก๊าซหุงต้ม หลังโครงการประสบผลสำเร็จในฐานะเจ้าของฟาร์มเรียกเก็บค่าบริการ เพื่อนำเงินเข้ากองทุนหมู่บ้านเพียงแค่เดือนละ 50 บาทต่อเดือน ทำให้ชาวบ้านสามารถประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มได้ครัวเรือนละ 110 บาทต่อเดือนเท่านั้น รวมแต่ละครัวเรือนประหยัดเงินเฉลี่ยได้มากถึง 1,320 บาทต่อปี ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้เพื่อนำมาเป็นไม้ฟืนหรือถ่านเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วย เพราะชุมชนแต่ก่อนต้องเข้าป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลัว” ใช้หุงหาอาหารในการดำรงชีวิตประจำวันพอตนผลิตก๊าซชีวภาพนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็เลิกเข้าไปตัดไม้ในป่า และหันมาเข้าร่วมโครงการทุกหลังคาเรือน ปัญหาการทำลายป่าก็หมดไป

นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ทุกวันนี้ภูมิใจที่ได้ช่วยให้ชุมชนได้มีแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนใช้ ที่สำคัญระบบก๊าซชีวภาพที่สร้างขึ้น ยังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากปัญหากลิ่นเหม็นได้เป็นอย่างดี ส่งผลที่ดีต่อสภาพแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้

“จากมูลสุกรไร้ค่าส่งกลิ่นเหม็นเป็นที่รังเกียจของทุกคนกลายมาเป็นก๊าซ ชีวภาพนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการหุงต้มเป็นพลังทางเลือกใหม่ทดแทนพลังงานที่ ต้องซื้อมาใช้ในราคาแพง โครงการนี้สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชา ชนในชุมชนที่ต้องทนเหม็นกลิ่นขี้หมูทุกวัน ช่วยประหยัดเงินใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว ลดปัญหาโลกร้อน แก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โครงการดี ๆ อย่างนี้ควรได้รับการสนับสนุนและนำไปใช้ในอีกหลายชุมชนของประเทศไทยครับ” นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=60766

โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำ

ภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ และต่างมีความพยายามในการลดใช้พลังงาน ตลอดจนเสาะแสวงหาพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อนำมาใช้ทดแทนพลังงานจากธรรมชาติที่นับวันก็จะลดน้อยลงและอาจจะหมดไปได้ ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นอกจาก นี้ของเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นหากปราศจากการจัดการที่ดี และปล่อยให้ของเสียเหล่านี้ย่อยสลายในพื้นที่เปิด จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอย่างก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แน่นอนว่าเราไม่อาจมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่า แต่สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้น น้ำเสีย กลิ่นเหม็นและแมลง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมชุมชน ที่ไม่อาจมองข้ามได้

วันก่อนไปดูงานด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ มีนบุรีที่มีโครงการ “ผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำ” เพื่อให้เป็นโรงงานเป็นมิตรกับชุมชนอย่างแท้จริง

โครงการนี้ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศชนิดปิดคลุมเพื่อลดการกระจาย ของกลิ่นและสามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายน้ำเสียได้ สูงสุดถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีแผนจะนำก๊าซชีวภาพดังกล่าวไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำในโรงงานภาย ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึงปีละ 6.6 ล้านบาท

ศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน โรงงานมีนบุรีแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนมาก เรียกว่า กว่าจะเข้าเมืองในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลามาก ช่วงเวลาเพียง ไม่กี่ปีมานี้แม้ว่าโรงงานแห่งนี้ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ความเจริญที่เริ่มขยายรุกคืบเข้ามาใกล้โรงงาน สิ่งที่ตามมาก็คือ วันนี้ชุมชนกำลังโอบล้อม ทำให้ต้องกลับมาคิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนรอบ ๆ ข้างได้ อย่างมีความสุข ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักเป็นสิ่งแรก เนื่องจากโรงงานนี้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปเนื้อไก่ จึงมี ของเสียจากกระบวนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากไม่มีการจัด การของเสียเหล่านี้ให้ดีก็อาจจะส่งผลกระทบต่อชุม ชนได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงได้พัฒนาระบบบำบัดมาอย่างต่อ เนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิ ภาพมากที่สุด เป็นที่มาของ “โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ จากระบบบำบัดน้ำ” ที่ไม่เพียงสามารถลดปัญหามลพิษทางกลิ่นรบกวนจากบ่อบำบัดได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยบรรเทาวิกฤติโลกร้อนได้เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่โรงงาน ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญโครงการนี้นับเป็น ครั้งแรกที่มีขึ้นในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย

“โครงการนี้เป็นต้นแบบที่จะนำไป ประยุกต์ใช้กับโรงงานอาหารแปรรูปอื่น ๆ ของบริษัทต่อไป โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นนี้ มีส่วนผสมของก๊าซมีเทนประมาณ 60-70% นับเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้แทนเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ หรือใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงในการ ประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลัก CDM : Clean Development Mechanism ที่ช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลก

แม้ว่าแนวทางบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความตื่นตัวในองค์กรทุกระดับจากทั่ว โลก ก่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ความสำคัญของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลจริงต่อส่วนรวมนั้น จะต้องอยู่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติ ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งต่อความคิดอันดีต่อ ส่วนรวม โดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรก่อนแล้วจึงแผ่ขยายสู่สังคมโดยรวม เช่นนี้...จึงจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บังเกิดผลลัพธ์ได้จริงอย่างยั่งยืน.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=60740

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ขี้ไก่เป็นพลังงานไฟฟ้า

การบำบัดของเสีย ด้วยระบบไบโอแก๊ส เป็นทางออกที่ผู้ประกอบการเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เลือกใช้ใน ปัจจุบัน ที่นอกจากจะสามารถแก้ปัญหากลิ่นเหม็นและลดสัตว์พาหะอย่างแมลงวัน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้แล้ว ยังมีผลพลอยได้ด้วยการนำแก๊สชีวภาพไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ ทั้งระบบอีกด้วย

ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ "ทองใบฟาร์ม" ตั้งอยู่เลขที่ 2/2 หมู่ 3 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จึงเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของภาคปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญต่อการผลิต สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยไปกว่าการใส่ใจในการผลิตไข่ไก่ให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อผู้บริโภค ภายใต้การบริหารงานของเกษตรกรผู้มองการณ์ไกลอย่าง เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู ที่เห็นว่าการจะประสบความสำเร็จในโลกปศุสัตว์นี้ได้อย่างยั่งยืน นอกจากระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐานและทันสมัยแล้ว การบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือกรีนฟาร์ม ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้

แม้จะรู้ว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่เธอกลับมองผ่านอุปสรรคนี้ไป เพราะเห็นถึงความสำเร็จจากผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนครั้งนี้ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาปรับใช้ที่ ทองใบฟาร์ม ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรรายย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยมีบริษัทให้การสนับสนุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีวิชาการที่เหมาะสมสู่ เกษตรกร เพื่อผลักดันให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
ฟาร์มไก่ไข่ ขนาด 6.2 หมื่นตัวแห่งนี้ เลือกใช้ระบบการเลี้ยงแบบอัตโนมัติทั้งหมด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับบริษัท โดยเลี้ยงไก่ในระบบปิด ปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแว้ป (Evaporative Cooling System) ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม แม่ไก่จึงอยู่สบาย ไม่เครียด สุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้มีผลผลิตไข่ไก่ที่ดี นอกจากนั้น ยังใช้ระบบการให้อาหารและการเก็บไข่อัตโนมัติ และการกวาดมูลไก่โดยใช้ระบบสายพาน โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยของสัตว์และความสะอาดโรงเรือนเป็นหลัก

“ยอมรับว่าการลงทุนทำระบบการเลี้ยงทันสมัยใช้เงินค่อนข้างสูง แต่เรามองว่าสิ่งที่จะได้มาหลังจากนั้นมันคุ้มเกินคุ้ม การพัฒนาระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐานอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องคำนึงว่าอาชีพของเราต้องไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน เราจึงนำระบบไบโอแก๊สมาใช้ในฟาร์ม เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนแล้ว ยังมีผลพลอยได้คือแก๊สชีวภาพนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย" เสาวลักษณ์เผย

เสาวลักษณ์เผยอีกว่า ระบบไบโอแก๊สของทองใบฟาร์ม เป็นแบบปลั๊กโฟลว์ (plug flow) ขนาด 1,000 คิว โดยของเสียจากการเลี้ยงไก่ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านเข้าไปยังระบบบำบัด และจะเกิดการหมักขึ้นในบ่อแก๊สชีวภาพ เมื่อการหมักสมบูรณ์จะได้แก๊สชีวภาพ ที่นำไปผ่านเครื่องปั่นไฟ (generator) ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าจากเดิมที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 6 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.5-1.6 หมื่นบาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังต่อยอดความคิดที่เริ่มต้นจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจากมูลไก่ไข่ หลังการบำบัดในระบบไบโอแก๊ส ที่วันนี้กลายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เดือนละมากกว่า 1 แสนบาท
วันนี้มูลไก่ที่เคยไร้ค่าและถูกมอง ว่าเป็นปัญหาต่อสังคม ได้กลับกลายเป็นสิ่งล้ำค่าจนแทบจะเรียกว่าของเสียไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้ถูกนำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ที่นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดมลภาวะแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันอีกด้วย

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20100415/55668/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1.html

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

จักรยานไฟฟ้าแอลเอฝีมือคนไทย

ปัจจุบันประชากรโลกกำลังตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อนอันสืบเนื่องมาจากการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ก่อให้เกิดปรากฏ การณ์ธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างรุนแรง หลายประเทศรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคขนส่งและคมนาคมโดยหันมาใช้พลังงานทดแทนในรูป ของพลังงานไฟฟ้า

รถจักรยานไฟฟ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ

นายประกิต เลิศเยาวฤทธิ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทแอลเอ อี-ไร้ด์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แอลเอฯ รับจ้างผลิตสกูตเตอร์และจักรยานไฟฟ้าให้ประเทศสหรัฐอเมริกามานาน 10 ปี โดยแอลเอฯ จะรับทำฮาร์ดแวร์ทั้งหมด แต่ระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นสมองกลควบคุมการทำงานและแบตเตอรี่นั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กระทั่ง 5 ปี ให้หลังมานี้พบว่าผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงาน มากขึ้น และยังมีความพยายามนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมี แนวโน้มว่าราคาจะแพงขึ้น

สกูตเตอร์และรถจักรยานไฟฟ้า จึงเป็นพาหนะอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังอยู่ ในกระแสความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบยุโรปกลาง ฮอล แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ซึ่งถือเป็นตลาดหลักและมีกำลังซื้อ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวไปตามกระแส ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีแนวโน้มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงได้จริง

จักรยานแอลเอ จึงเข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม ไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านเงินทุนและได้เชิญดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล อาจารย์คณะบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มาให้ความรู้ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโครงการ “การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสมรรถนะของจักรยาน และสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่”

โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาและทดสอบเพื่อต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับ สมรรถนะของรถจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม -ไอออน เนื่องจากแบตเตอรี่จะคงทน ปลอดภัย สามารถใช้งานได้นานนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุในการประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ในขณะขับขี่ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงออกแบบการทำงานของจักรยาน ไฟฟ้า ให้ได้สมรรถนะที่เหมาะสมกับการ ใช้งาน สภาพภูมิอากาศและสอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้โครงการได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

จุดเด่นของรถจักรยานไฟฟ้าและสกูตเตอร์ คือ ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และยังมีระยะการขับขี่ต่อการอัดประจุหนึ่งรอบไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร โดยไม่ปล่อยไอเสียหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รถจักรยานไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เพราะสามารถใช้แรงคนปั่นหรือใช้พลังงานไฟฟ้าทำให้รถจักรยานขับเคลื่อนได้ตาม ต้องการ

ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล กล่าวว่า ได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพและการดูแลรักษาแบตเตอรี่ ตะกั่วกรดและลิเธียม-ไอออน พบว่า บริษัทแอลเอฯ ได้สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด เมื่อนำมาเก็บรักษาไว้นานทำให้เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปโดยที่เราเองไม่ทราบ หากไม่มีการตรวจสอบก่อนนำไปประกอบเป็นรถจักรยานไฟฟ้า ปัญหาของแบตเตอรี่นำเข้าจากต่างประเทศรวมถึงชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถ จักรยานไฟฟ้าทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ไขดัดแปลงอุปกรณ์อิเล็กทรอ นิกส์ทางบริษัทไม่สามารถกระทำได้เพราะติดเงื่อนไขลิขสิทธิ์ และความยุ่งยากในการประสานงาน

จึงเห็นว่าคอนโทรล เลอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับมอเตอร์ เป็นหัวใจและสมองควบคุมการทำงานของจักรยานไฟฟ้าทั้งหมด คุณภาพของจักรยานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความสามารถของคอนโทรลเลอร์ในการควบคุมการ ทำงานของมอเตอร์ให้มีสมรรถนะตามความต้องการของผู้ใช้และสามารถควบคุมกระแส ไฟฟ้าให้ไหลเข้า-ออกในแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงดำเนินโครงการพัฒนาคอนโทรล เลอร์ขึ้นมาเอง ขณะนี้เครื่องต้นแบบกำลังถูกทดสอบสมรรถนะการทำงาน ก่อนเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับรถจักรยานไฟฟ้าสำหรับตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=59928

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

ต้นข้าวโพดและมันสำปะหลัง ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ

ต้นข้าวโพดและมันสำปะหลัง ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพสำเร็จ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากผลผลิตทางการเกษตร โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จากผลิตผลทางการเกษตร คือ มันสำปะหลัง และต้นข้าวโพด

ซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพและมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย ภายในประเทศ โดยใช้เทคนิคการหมักย่อยแบบไร้อากาศหรือไม่มีออกซิเจน ซึ่งผลที่ได้ก๊าซชีวภาพที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนถึงประมาณ 60-70% สามารถ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น พลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วยจะเห็นได้ว่า การนำผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตก๊าซชีวภาพนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปัญหาราคาผันผวนของมันสำปะหลังและข้าวโพดผันลงด้วย

นายชยานนท์ สวัสดีนฤนาท หนึ่งในนักวิจัยผู้ดูแลโครงการการผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียง ใหม่ เปิดเผยว่า เริ่มต้นทำงานวิจัยด้านก๊าซชีวภาพจากผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2552 โดยการหาศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพของมันสำปะหลังและต้นข้าวโพดพบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ที่ใช้ในการทดลองปริมาณ 1 ตัน จะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 420 หน่วย หรือทดแทนน้ำมันเตาได้ประมาณ 165 ลิตร หรือทดแทนก๊าซแอลพีจี ได้ประมาณ 138 กิโลกรัม ในขณะที่ต้นข้าวโพดสดพันธุ์ 271 และพันธุ์ CP ที่ใช้ในการทดลองปริมาณ 1 ตันจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 70 หน่วย หรือทดแทนน้ำมันเตาได้ 28 ลิตร หรือทดแทนก๊าซแอลพีจี ได้ประมาณ 23 กิโลกรัม

หากคิดเปรียบเทียบจากพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ จะผลิตมันสำปะหลัง ได้ 3.6 ตัน สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1,080 ลูกบาศก์เมตร และหากใช้พื้นที่ 1 ไร่ ในการปลูกข้าวโพด หลังจากเก็บ เกี่ยวผลผลิตจะได้ต้นข้าวโพดสด 2 ตัน สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ 100 ลูกบาศก์เมตร

ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงทดลองระบบต้นแบบ ซึ่งคาดว่า ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตรจะเริ่มใช้ได้ราวกลางปี 2554 และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่เกษตรกร รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปลงเป็น พลังงานทดแทนที่เหมาะสม เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร พร้อมกับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการเผาพื้นที่เพาะปลูกและยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร แถมยังได้ปุ๋ยชีวภาพมาใช้ในการปรับปรุงดินซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการ ระบายผลิตผลการเกษตรและที่สำคัญคือเกิดการจ้างงานทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นใน โอกาสต่อไป.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=53677

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำแบตเตอรี่มือถือเก่า ให้เป็นของใหม่

ผมได้ไปอ่านบทความในเว็บ http://www.rcthai.net/webboard/viewtopic.php?f=21&t=315210
เขาได้บอกวิธีการทำแบตเตอรี่ให้เก็บไฟได้นานขี้น
สำหรับผู้ที่แบตเตอรี่มือถือของท่านเริ่มมีอายุการใช้งานสั้นลงจนสังเกตได้ชัด .... ให้ปฏิบัติดังนี้ค่ะ

1. นำแบตเตอรี่ของท่านห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วใส่ไว้ในถุงพลาสติกแล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็งในตู้เย็นเป็นเวลา 3 วัน กระดาษหนังสือพิมพ์ จะช่วยดูดความชื้นส่วนเกินให้

2. หลังจากทิ้งแบตเตอรี่ไว้ในตู้เย็นครบสามวันแล้วนำแบตเตอรี่ออกมาทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องอีกสองวัน

3. เมื่อทิ้งไว้สองวันแล้ว ชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มแล้วนำไปใส่ในมือถือของท่านอีกครั้ง จะสังเกตได้ว่าแบตเตอรี่สามารถใช้งานได้นานถึง 80-90% ของแบตเตอรี่ใหม่เลยทีเดียว

อยากทราบรายละเอียดมาขึ้นเข้าที่ เว็บ http://www.rcthai.net/webboard/viewtopic.php?f=21&t=315210 นะ

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

"ม.แอริโซนา" เดินหน้าพัฒนาโซลาร์เซลล์ลงลึกถึงชั้นโมเลกุล

ในขณะที่บางความคิดของคนไทยมองว่า ราคาของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นแพงแสนแพง และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน (ทั้งๆ ที่บ้านเรามีแดดจัดเกือบทั้งปี) แต่นักวิจัยสหรัฐฯ ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนา “เซลล์แสงอาทิตย์” ต่อไปถึงระดับโมเลกุล ที่สามารถกำหนดตำแหน่งได้ในระดับนาโนเมตร

ดิโอ พลาเซนเซีย (Dio Placencia) นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยอาริโซนา (University of Arizona) สหรัฐฯ มีความหลงใหลอย่างยิ่งในพลังงานหมุนเวียน และกำลังมุ่งมั่นอยู่กับการเป็นส่วนหนึ่ง ของกลุ่มวิจัยที่จะปฏิวัติเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเขาบอกว่ามีของเสียน้อยที่สุด แต่ทำไมเราถึงไม่ใช้พลังงานสะอาดประเภทนี้

พลาเซนเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มวิจัย ที่นำโดย ศ.เนียล อาร์ อาร์มสตรอง (Neal R.Armstrong) แห่งมหาวิทยาลัยอาริโซนา ที่มีเป้าหมายพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ใช้ฟิล์มบางจากสารอินทรีย์ เพื่อให้ได้เซลล์แสงอาทิตย์ที่บาง และยืดหยุ่นจนสามารถให้พลังงานกับเต้นท์ ที่กางในภาคสนามหรือสำหรับชาร์จไฟให้รถยนต์ ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวหรือไปทำงาน แล้วมีพลังงานพอในการขับกลับมาได้

“ผม มีแผ่น (เซลล์แสงอาทิตย์) บางๆ อยู่แผ่นนึง ซึ่งนำติดตัวไปทุกที่ ปกติผมจะติดไว้กับกระเป๋าสะพาย และก็ชาร์จโทรศัพท์มือถือเวลาที่เดินไปเรียน” ไซน์เดลีระบุคำพูดของพลาเซนเซีย

ขณะนี้ทั้งมหาวิทยาลัยอาริโซนา อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนนโยบายและวิเคราะห์ความคุ้ม ค่าทางเศรษฐกิจ ต่างทำงานเพื่อตอบข้อสงสัยของพลาเซนเซีย ว่าเหตุใดเราจึงไม่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

พวกเขากำลังขบปัญหาว่า จะทำให้แสงอาทิตย์เกิดประโยชน์ในระดับเดียวกับโรงไฟฟ้าได้อย่างไร จะควบคุมแสงอาทิตย์เพื่อชาร์จพลังงาน ให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่างโทรศัพท์มือถือ เอ็มพี 3 และโน้ตบุคได้อย่างไร และต้องทำอย่างไร เมื่อไม่ได้รับพลังงานจากท้องฟ้าในยามค่ำคืน และในวันที่มีเมฆปกคลุมได้อย่างไร

ด้านอาร์มสตรองหัวหน้ากลุ่มวิจัย ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเคมีและทัศนศาสตร์ รวมทั้งยังสอนเคมีให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยอาริโซนา ได้ตัดสินใจว่า สักวันในช่วงใกล้ๆ ปิดเทอมเขาจะต้องสร้างวัสดุที่เข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น และเขายังได้คำถามกับตัวเองว่า เราต้องใช้ถ่านหินไปมากแค่ไหนเพื่อชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ซึ่งให้พลังงานกับมือถือและไอ-พอดที่เขาได้รับจากลูกสาว

“ผม สงสัยว่า เราต้องเผาถ่านหินไปเท่าไหร่เพื่อชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์พวกนั้นในแต่ละวัน คุณต้องเผาถ่านหินถึง 1 ใน 4 ปอนด์ (ประมาณ 100 กรัม) ต่อการชาร์จแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนแต่ละครั้ง และคุณก็ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาครึ่งปอนด์ (ประมาณ 200 กรัม) ต่อการชาร์จแบตเตอรี 1 ก้อนในแต่ละวัน” อาร์มสตรองเผย และครั้งต่อไปเขาจะคำนวณว่าเราเผาถ่านหินไปมากแค่ไหนต่อการ “ทวีต” ผ่านทวิตเตอร์ (twitter) 1 ครั้ง

เมื่อ 30 ปีในช่วงที่น้ำมันแพงก่อนอาร์มสตรองได้รับมอบหมายให้วิจัยในการเปลี่ยน พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานความร้อน แต่เมื่อก๊าซธรรมชาติและพลังงานฟอสซิลถูกลง งานวิจัยของเขาก็ถูกเก็บเข้ากรุไปด้วย จนวันนี้เขากลับมาทำวิจัยเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์อีกครั้ง ซึ่งเขาบอกว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

“เรารู้ว่าจะนึกภาพโมเลกุลในระดับโมเลกุลได้อย่าง จะวัดพลังงานที่เหลือเชื่อจากฟิล์มบางได้อย่างไร เราได้เรียนรู้ว่าจะสร้างอุปกรณ์เหล่านั้นขึ้นได้อย่างไร เราทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์และในสาขาที่เกี่ยวข้อง เราได้ทำสิ่งอื่นที่น่าสนใจหลายอย่าง และผมก็นึกขึ้นได้ว่าผมควรนำสิ่งเหล่านั้นกลับมารวมกันอีกครั้งในงานนี้” อาร์มสตรองกล่าว

ภายในห้องทำงานของอาร์มสตรอง เขาได้แสดงตัวอย่างผลงานไว้ แก้วขนาด 1 ตารางนิ้วที่เคลือบฟิล์มบางสารอินเดียม (ธาตุโลหะชนิดหนึ่งมีสีเงิน) และดีบุก ซึ่งเป็นสื่อนำออกไซด์โปร่งแสง ดังที่เห็นได้ในเทคโนโลยีจอภาพอย่างจอคอมพิวเตอร์ ด้านบนของกระจกเคลือบเคลือบฟิล์มบางของสีย้อมอินทรีย์ ส่วนชั้นบนสุดเคลือบอิเล็กโทรดอะลูมิเนียม

แนว คิดของอาร์มสตรองคือพัฒนาเซลล์อาทิตย์ที่แผ่นพลาสติก ซึ่งสามารถม้วนและคลื่ออกได้ และมีสายไปสำหรับเสียบเพื่อชาร์จไฟให้กับแบตเตอรีหรือโน้ตบุคได้ โดยความหนาของแผ่นโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 400 นาโนเมตร ซึ่งเล็กกว่าเส้นผม 10 เท่า เมื่อมีแสงอาทิตย์ฉายลงบนไปจะได้กระแสไฟฟ้าออกมา แต่ทีมวิจัยอยากได้เซลล์แสงอาทิตย์ที่หนากว่านี้ หากแต่ความบางของเซลล์แสงอาทิตย์มีผลต่อการนำกระแสไฟฟ้าที่ได้ทั้งหมดออกมา

“หากนึกถึงรูปร่างแบบแซนด์วิช เราก็ผลิตแซนด์วิชที่มีรูปร่างบางเหลือเชื่อ แต่ละชั้นสัมผัสกับอีกชั้นในตำแหน่งการจัดวางองค์ประกอบทางเคมีและในทิศทาง ระดับโมเลกุลและยึดติดกันแน่น หากผมเปลี่ยนแปลงชั้นโมเลกุลซึ่งจัดวางกันที่ความหนาเพียง 1 นาโนเมตรนั้น ผมก็อาจทำให้อุปกร์ณที่ดีเจ๊ง หรือไม่ก็ทำอุปกรณ์ที่ใช้การไม่ได้กลายเป็นอุปกรณ์ชั้นเยี่ยมได้ ซึ่งการควบคุมที่ความหนาระดับนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการมาก แต่เราก็ยังเข้าใจกลไกนี้ไม่เต็มที่” อาร์มสตรองกล่าว

อาร์มสตรองยังนำเสนอเทคโนโลยีที่ดูคล้ายกับน้ำหมึก เป็นน้ำหมึกสีน้ำเงินที่ฉีดลงพื้นผิวของแผ่นฟิล์มบางแล้ว จะทำให้โมเลกุลในระดับนาโนเมตรพร้อมที่จะทำงาน เมื่อนำด้านอิเล็กโทรดไปรับแสงก็จะได้กระแสไฟฟ้าออกมาปริมาณมาก

อย่างไรก็ดีไซน์เดลีระบุว่า ขณะนี้มีกล้องจุลทรรศน์เชิงแสงที่ทำให้เห็นภาพระดับโมเลกุลและเผยให้ คุณสมบัติทางไฟฟ้าและการจัดเรียงของตำแหน่งต่างๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้ทีมวิจัยเข้าใจในปัญหาข้างต้นได้ ซึ่งเป้าหมายของอาร์มสตรองคือการหาวิธีทำให้โมเลกุลจัดเรียงตัวเองได้ตลอด เวลา ในทิศทางที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากๆ เหมือนกันทหารตัวเล็กที่รักษาระเบียบแถวตลอดเวลา

ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000151995

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

แสดงฝีมือในฐานะเป็นศูนย์แห่งชาติ กับ...ผลงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของแท้ ฝีมือนักวิจัยไทยที่ได้มาตรฐานสากล

จากปัญหาสภาพแวดล้อม และขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ทำให้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ปัจจุบันพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพที่มีสมบัติตรงตามมาตรฐานสากลกำหนดนั้น ยังไม่มีการผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหรือนำเข้าเม็ดพลาสติกที่ผสมเสร็จแล้ว ทำให้ราคาสูงและกลายเป็นข้อจำกัดด้านการใช้งานในประเทศ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค โดยกลุ่มวิจัยพลาสติกชีวภาพ ห้องปฏิบัติการเคมีโพลิเมอร์ จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่มีสมบัติ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพขึ้น

ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย หัวหน้าทีมนักวิจัยจากเอ็มเทค บอกว่าเอ็มเทคทำการวิจัยครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนากระบวนการผลิต การทดสอบการใช้งานของวัสดุ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น

ซึ่งการพัฒนากระบวนการผลิตได้เลือกใช้แป้งมันสำปะหลังที่มีราคาถูกกว่าและ เป็นพืชที่ปลูกเองในประเทศเป็นวัตถุดิบแทนแป้งข้าวโพดที่ใช้กันอยู่ในการ ผลิตเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ที่นำเข้าอยู่ในปัจจุบัน

พลาสติกชีวภาพที่ได้ มีการปรับปรุงสูตรการผลิตจนสามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถาดใส่อาหาร ช้อนส้อม ที่มีเนื้อเรียบเหนียวไม่แตกต่างจากพลาสติก ทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้ 100%

ยืนยันความสามารถในการย่อยสลาย ตามหลักมาตรฐานสากล ไม่ใช่แค่แตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ เมื่อโดนแดดอย่างที่บางคนอาจเข้าใจผิด

แต่ผลงานชิ้นนี้ สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและมวลชีวภาพ

และสามารถย่อยสลายได้ในระบบกำจัดขยะอินทรีย์ทั่วไป

อย่างเช่น ถุงพลาสติกเพาะชำต้นไม้ สามารถนำไปปลูกลงกระถางได้ทันทีโดยไม่ต้องถอดออก เพราะจะย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติกลายเป็นปุ๋ยของต้นไม้ในเวลาประมาณ 3-6 เดือน

ดร.ธนาวดี บอกอีกว่า โชคดีที่เอ็ม เทคทำอย่างครบวงจร โดยตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพตามมาตร ฐานสากลขึ้น ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทดสอบผลงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพ ไม่ต้องส่งไปทดสอบไกลถึงยุโรป

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโน โลยีให้กับบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ ในประเทศ

...ซึ่งอนาคตคนไทยจะมีโอกาสร่วมลดโลกร้อนกับการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทาง ชีวภาพ ที่ใช้เทคโนโลยีของไทย ลดการนำเข้าแถมยังเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรอีกด้วย !!!.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=319&contentID=42143

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

โทรศัพท์มือถือซึ่งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พนักงานของบริษัทเอ็น ทีที โดโคโมะ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ราย ใหญ่ของญี่ปุ่น สาธิตการใช้งานโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการชาร์จ แบตเตอรี่

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=321&contentID=41247