วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข่าวผลิตไฟ้าด้วยพลังงานจลน์

คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อที่คนไทยรู้จักดี ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และจากการที่ได้ประจักษ์ถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างชะงัด

ทุกวันนี้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นของโครงการ ได้ช่วยให้ประชาชนมีความสุขขึ้น มาก ดังที่ นายวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ บอกว่า หลังจากมีโครงการคลองลัดโพธิ์ ในปี 2549 ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อีกเลย ช่วงฤดูน้ำหลากสามารถระบายน้ำได้เร็วในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงน้ำก็ไม่ไหลท่วม พื้นที่อีก

แต่โครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำลังจะก่อเกิดประโยชน์มหาศาลตามมาอีก เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี รับไปพิจารณาว่าจะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก หรือไม่

จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยจนได้ต้นแบบ กังหันพลังน้ำอาศัย พลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำ ไหลขึ้น 2 แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน และแบบหมุนขวางการไหล ทำการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

กังหันแบบหมุนตามแนวแกน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และแบบหมุนขวางการไหล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ยาว 2.50 เมตร ทั้ง 2 แบบจะประกอบกับโครงเหล็กเป็นต้นกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ แม่เหล็กถาวร มีเกียร์ทดอยู่ภายในกล่องที่จมน้ำได้

กำลังและแรงดันไฟฟ้าที่ได้จะขึ้นอยู่กับความเร็วรอบ เช่นหากความเร็วที่ 200 รอบต่อนาที จะได้กำลังไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ต่อวัน และ Open Circuit Voltage 650 โวลต์ จะเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร ทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าแบบกระแสสลับ และใช้ Rectifier เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นกระแสตรงแล้วเชื่อมต่อเข้ากับ Inverter & Controller ซึ่งจะปรับแรงดันและความถี่เพื่อเชื่อมต่อ กับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง จากการทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบพบ ว่าได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.74 กิโลวัตต์ต่อวัน

ซึ่งความรู้ที่ได้จากการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์นี้จะถูก นำไป ต่อยอดเพื่อการ ผลิตกังหันพลังน้ำในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้วัสดุอุปกรณ์จาก ต่างประเทศอยู่ แต่เมื่อมี การขยายผลจนสามารถประยุกต์ใช้กับ ประตูระบายน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ ทั่วประเทศได้ในอนาคตแล้ว ก็จะไม่ต้องนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ อันจะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้อย่างมหาศาล และยังได้พลังงานไฟฟ้า เพิ่มขึ้นมา.

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แดนกังหันลมแห่งอาเซียน

อีกไม่นาน บ้านเราอาจเป็นแดนกังหันลมแห่งอาเซียนกันแล้ว เพราะดูเหมือนว่าช่วงนี้มีหลายหน่วยงานต่างแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน ได้มีความพยายามใช้พลังงานทดแทนหลากหลายแบบ ทั้งจากพืชพลังงาน พลังงานชีวภาพ ชีวมวล และล่าสุดคือพลังงานจากธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงานจากลมที่มองว่าอีกหนึ่งช่อง ทางที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษดี ได้ดำเนินโครงการ : การศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเขตภาคเหนือตอนบน โดยมีสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการค้นคว้าวิจัย

นักวิจัยกลุ่มนี้เน้นลมภูเขาตามดอยต่างๆ เพื่อติดตั้งกังหันลม และผลิตกระแสไฟ้า ซึ่งพบว่าในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีลมภูเขาที่อัตราความเร็วเกิน 4 เมตรต่อ 1 วินาที ในระดับที่สูงกว่าพื้นที่พื้น 40-80 เมตร มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บนดอยกิ่วลม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่ดอยม่อนล้าน อ.พร้าว และที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

ล่าสุดมีนักวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นำโดย ดร.รัดเกล้า พันธุ์อร่าม ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ศึกษาวิจัยเพื่อหาพื้นที่ที่มีศักยภาพติดตั้งกังหันลม ด้วยการทำโครงการศึกษาศักยภาพพลังงานของประเทศไทยด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ด้านอุตุนิยมวิทยา 3 มิติ ซึ่ง วช.ได้ให้การสนับสนุนเช่นเคย เพราะหากใช้วิธีการสุ่มตั้งเสาตรวจวัดลม โดยไม่ทราบข้อมูล ต้องใช้งบประมาณสูงมาก

ผลการประเมิน รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ ผู้ร่วมวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า ความแรงของลมในประเทศไทยขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมและระดับความสูงจากพื้นดิน มี 2 ช่วงด้วยกันคือ

1.ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พบพื้นที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 6-7 เมตรต่อวินาที ที่ระดับความสูง 50 เมตรเหนือพื้นดิน บริเวณพื้นที่ภาคใต้ด้านอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.ชุมพร ไปจนถึง จ.สงขลา ที่ภาคกลางบริเวณรอยต่อ จ.ลพบุรี กับ จ.สระบุรี ที่ จ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ส่วนภาคอีสานมีบางส่วนคือที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ

2.ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ได้รับอิทธิพลสูงจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในบริเวณภาคอีสาน รวมถึงภาคใต้บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ปัตตานี โดยมีความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุด 6-7 เมตรต่อวินาทีที่ระดับความสูง 50 เมตร

เมื่อทราบข้อมูลด้านศักยภาพพลังงานลมแล้ว จะมีการศึกษารายละเอียดเพื่อติดตั้งกังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้า แต่ต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ด้วย

"ดลมนัส กาเจ"
ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20091028/34489/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%A1.html

ม.เกษตรฯผลิตกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าสำเร็จเป็นรายแรกของโลก

ม.เกษตรฯผลิตทำได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก

ม.เกษตรฯสนองแนวพระราชดำริ"ในหลวง"ผลิตกังหันพลัง น้ำไกลใช้ผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก เผยทรงรับสั่งไว้เมื่อปี 49 แนะให้ใช้พลังงานไหลของน้ำผ่านคลอง ให้เป็นประโยชน์ กรมชลฯ เตรียมขยายผลนำไปติดตั้งประตูระบายน้ำทั่วประเทศ 361 แห่ง ชี้ช่วยชาติประหยัดไฟได้ถึง 448 ล้านบาทต่อปี

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 พ.ย. ได้แถลงข่าว นักวิจัยมก.ประสบความสำเร็จ ออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบผลิตกระแสไฟฟ้าตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ

ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มก. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ แถลงข่าวว่า โครงการนี้ได้นำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองมาใช้ประโยชน์ ตาม พระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาสู่การออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบ ติดตั้งบริเวณตอม่อท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ ซึ่งการผลิตชุดกังหันพลังน้ำนี้ใช้อุปกรณ์จากต่างประเทศ ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นผลงานการคิดค้นของนักวิจัยคนไทย

ด้าน รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี หัวหน้าโครงการศึกษาฯ กล่าวว่า ทีมนักวิจัย ได้ออกแบบชุดกังหันพลังน้ำต้นแบบ ที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการประตูคลอง ลัดโพธิ์ สะดวกต่อการปฏิบัติงาน และมีราคาประหยัด คือแบบหมุนตามแนวแกน และแบบหมุนขวางการไหลของน้ำ ซึ่งชุดกังหันน้ำทั้ง 2 แบบจะประกอบและติดตั้งกับโครงเหล็กที่ปรับขึ้นลงได้ที่ท้ายประตูคลองลัด โพธิ์ ใช้กังหันพลังน้ำเป็นต้นกำลังที่เชื่อมต่อกับเกียร์ทดรอบไปหมุนเครื่อง กำเนิดไฟฟ้า แบบแม่เหล็กถาวร ที่บรรจุภายในกล่องที่จมน้ำได้ เมื่อเดินชุดกังหันน้ำต้นแบบจะได้พลังงานไฟฟ้าเป็นแบบกระแสไฟฟ้าสลับ แล้วเปลี่ยนเป็นกระแสตรงเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์แปลงและควบคุมไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง

ส่วน ดร.ชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสกับนายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ และนายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2549 รับสั่งว่า “โครงการคลองลัดโพธิ์จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์ มีพลังงานมหาศาล จะใช้เป็นพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลอง” ซึ่ง จากความสำเร็จในครั้งนี้ กรมชลประทานจะขยายผลด้วยการนำชุดกังหันน้ำไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำ บรมธาตุ จ.ชัยนาท จำนวน 4 ชุด ในปี 2553 เพื่อให้ได้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์

ทั้งนี้ จากการคำนวณ หากนำระบบนี้ไปติดตั้งในบริเวณประตูระบายน้ำของชลประทานจำนวน 361 แห่ง จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ หรือที่เรียกกันว่าพลังงานจลน์ได้ 138,060,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นค่าฟ้า 448,695,000 ล้านบาทต่อปี (ค่าไฟหน่วยละ 3.25 บาท) โดยมีกำลังการผลิตวันละ 20 ชั่วโมง ในการคำนวณที่ 300 วันในรอบ 1 ปี

ขณะที่นายยอดชาย เตียเปิ้น อาจารย์จากวิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ ม.เกษตร วิทยาเขตศรีราชา ในฐานะผู้ร่วมทีมวิจัย กล่าวว่า รูปแบบการผลิตกังหันน้ำต้นแบบดังกล่าว ประเทศบราซิลและเกาหลีใต้ ใช้กับการขึ้นลงของน้ำทะเลมาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในรูปแบบที่ให้น้ำไหลผ่านกังหันบริเวณจุดน้ำไหล ยังไม่มีประเทศใดทำ ในทางวิชาศาสตร์เรียกว่าการใช้พลังงานจลน์ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเรียกว่า พลังงานศักย์ ที่ต้องนำน้ำไปปล่อยลงบนที่สูง เพื่อให้เป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า

อนึ่ง สำหรับความเป็นมาของโครง การคลองลัดโพธิ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2538 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายรุ่งเรือง จุลชาต อธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้น พร้อมด้วย พล.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ นายจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

ประกอบด้วยกรมชลประทาน จ.สมุทรปราการ กรมทางหลวง กรมอุทก ศาสตร์ กองทัพเรือ ร่วมกันศึกษาพิจารณาวางโครงการปรับปรุงการขุดลอกคลองลัดโพธิ์ พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการ ระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระยะทางการไหลอ้อมผ่านพื้นที่บริเวณบางกะเจ้า ที่มีลักษณะคล้ายกระเพาะหมู ระยะทาง 18 กม. ในเขต จ.สมุทรปราการ โดยพิจารณาขุดลอกคลองลัด เพื่อร่นระยะทางการไหลของน้ำเหลือเพียง 600 เมตร ลงสู่ปากอ่าวไทย ช่วยเสริมการระบายน้ำจากคลองธรรม ชาติ ทำให้สามารถระบายน้ำได้รวดเร็ว และช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=38&contentId=30405&hilight=%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%99

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซล

จากปัญหาด้านวิกฤติพลังงานที่ส่งผลลุกลามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวด ล้อมของประชาชน “โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลและแหล่งเรียนรู้ไบโอดีเซลชุมชน ตำบลท่าทอง” ของ ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก จึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษาและพัฒนาเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่นำไปใช้งานได้ในระดับชุมชน ซึ่งจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง ช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

รศ.พันธ์ณรงค์ จันทร์แสงศรี หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบไบโอดีเซลฯ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้ตอบโจทย์และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยคิดถึงการนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้วที่มีอยู่มากในพื้นที่ของตำบลท่าทอง และตำบลท่าโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ตัวมหาวิทยาลัยนเรศวรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“จากการศึกษาพบว่าน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเหล่านี้จะมีผู้มารับซื้อและนำไปผ่าน กระบวนการที่ทำให้ใสและไม่มีตะกอน แล้วนำกลับมาขายในราคาถูก พ่อค้า แม่ค้าหรือชาวบ้านไม่รู้และเห็นว่ามีราคาถูก ก็จะซื้อแล้วนำกลับมาใช้ทอดซ้ำ ซึ่ง น้ำมันที่ใช้ซ้ำเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตราย ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นถ้าเราตัดตอนนำน้ำมันพืชเหล่านี้มาทำเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตไบโอดีเซล ส่วนหนึ่งจะช่วย ชาวบ้านในเรื่องของสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งก็จะช่วยให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันผลิตไบโอดีเซลไปใช้กับ เครื่องจักรกลทางการเกษตร และช่วยในเรื่องการลดรายจ่ายให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้นภายใต้สภาวะที่ มีวิกฤติราคาน้ำมัน” รศ.พันธ์ณรงค์กล่าว

“ไบโอดีเซล” คือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผ่านการผลิตมาจากน้ำมันพืช หรือไขมันสัตว์ผสมกับ เอทานอล (Ethanol) หรือ เมทานอล (Methanol) เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลและสามารถใช้ทด แทนได้ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซลนั้นมีหลากหลายชนิด ที่นิยมคือ น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันพืชใช้แล้ว และน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ

โครงการนี้ได้ศึกษาพัฒนาออกแบบเครื่องผลิตไบโอดีเซล ที่มีขนาดกะทัดรัด สามารถนำไปใช้งานได้ในระดับชุมชนอย่างไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น และมีต้นทุนการผลิตต่อเครื่องประมาณ 45,000-50,000 บาท โดยขั้นตอนจะนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้ว 100 ลิตร มาผ่าน กระบวนการที่เรียกว่า “ทรานเอสเตอริฟิเคชัน” เพื่อให้ได้น้ำมัน “ไบโอดีเซลแบบเอสเทอร์” จำนวน 70 ลิตร ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง น้ำมันดีเซลมากที่สุด เหมาะที่จะนำไปใช้กับเครื่องจักรกลทางการเกษตรขนาดเล็กแบบสูบเดียว

น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้จะมีต้นทุนประมาณ 21-22 บาทต่อลิตร โดยต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับราคารับซื้อน้ำมันพืชเก่า ลิตรละ 6-7 บาท หากเกษตรกรสามารถรวมตัวกันนำน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้วในครัวเรือนมารวมกัน ผลิตก็จะช่วยลดต้นทุนไปได้มาก

โครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบผลิต ไบโอดีเซลฯ นอกจากจะคิดค้นและพัฒนา วิธีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยง่ายแล้ว ยังได้ร่วมมือกับ “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองพิษณุโลก” หรือ กศน. พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไบ โอดีเซลขึ้นที่ “ตำบลท่าทอง” เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ของจังหวัด

...โครงการนี้นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง มีรายได้เพิ่ม พึ่งพาตนเองได้ เยาวชนในพื้นที่ก็จะเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและอันตรายจากน้ำมันพืชใช้ ซ้ำซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยต่างๆ อีกด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยกันตัดวงจรการนำน้ำมันพืชใช้แล้วกลับมาบริโภค และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งลงสู่ธรรมชาติ ด้วยการนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันจะนำไปสู่การเป็นชุมชนสุขภาวะ.

ทีมา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=29612