วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข่าวผลิตไฟ้าด้วยพลังงานจลน์

คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อที่คนไทยรู้จักดี ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และจากการที่ได้ประจักษ์ถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างชะงัด

ทุกวันนี้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นของโครงการ ได้ช่วยให้ประชาชนมีความสุขขึ้น มาก ดังที่ นายวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ บอกว่า หลังจากมีโครงการคลองลัดโพธิ์ ในปี 2549 ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อีกเลย ช่วงฤดูน้ำหลากสามารถระบายน้ำได้เร็วในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงน้ำก็ไม่ไหลท่วม พื้นที่อีก

แต่โครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำลังจะก่อเกิดประโยชน์มหาศาลตามมาอีก เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี รับไปพิจารณาว่าจะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก หรือไม่

จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยจนได้ต้นแบบ กังหันพลังน้ำอาศัย พลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำ ไหลขึ้น 2 แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน และแบบหมุนขวางการไหล ทำการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

กังหันแบบหมุนตามแนวแกน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และแบบหมุนขวางการไหล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ยาว 2.50 เมตร ทั้ง 2 แบบจะประกอบกับโครงเหล็กเป็นต้นกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ แม่เหล็กถาวร มีเกียร์ทดอยู่ภายในกล่องที่จมน้ำได้

กำลังและแรงดันไฟฟ้าที่ได้จะขึ้นอยู่กับความเร็วรอบ เช่นหากความเร็วที่ 200 รอบต่อนาที จะได้กำลังไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ต่อวัน และ Open Circuit Voltage 650 โวลต์ จะเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร ทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าแบบกระแสสลับ และใช้ Rectifier เปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นกระแสตรงแล้วเชื่อมต่อเข้ากับ Inverter & Controller ซึ่งจะปรับแรงดันและความถี่เพื่อเชื่อมต่อ กับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง จากการทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบพบ ว่าได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.74 กิโลวัตต์ต่อวัน

ซึ่งความรู้ที่ได้จากการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์นี้จะถูก นำไป ต่อยอดเพื่อการ ผลิตกังหันพลังน้ำในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้วัสดุอุปกรณ์จาก ต่างประเทศอยู่ แต่เมื่อมี การขยายผลจนสามารถประยุกต์ใช้กับ ประตูระบายน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ ทั่วประเทศได้ในอนาคตแล้ว ก็จะไม่ต้องนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ อันจะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้อย่างมหาศาล และยังได้พลังงานไฟฟ้า เพิ่มขึ้นมา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น