วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

พลังงานทดแทนครบวงจรที่ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย

กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับกระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ ประเทศญี่ปุ่น เร่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการบริหารวัตถุดิบเพื่อ พลังงานทดแทนครบวงจรขึ้นในพื้นที่ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ภายใต้ โครงการไบโอแมส ทาวน์ (Biomass Town) โดยมุ่งให้กลุ่มเกษตรกร ชุมชนและท้องถิ่นนำชีวมวลโดยเฉพาะ เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน เช่น ไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

พื้นที่อำเภอนาด้วง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นชุมชนพลังงานชีวมวลต้นแบบ ซึ่งเดิมเกษตรกรมีการผลิตพืชหลักหลายชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ไม้ผล และยางพารา ทั้งยังมีการผลิตปศุสัตว์ในพื้นที่ด้วย โดยแต่ละปีจะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรค่อนข้างมาก และปัจจุบันเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชใหม่เพิ่มขึ้น คือ ปาล์มน้ำมัน ประมาณ 5,000-7,000 ไร่ ซึ่งอนาคตกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนผลักดันให้ชุมชนนำผลผลิตปาล์มน้ำมันเข้า สู่ระบบการผลิตพลังงานชีวมวลและนำเศษวัสดุที่เหลือมาใช้ประโยชน์และสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนด้วย ซึ่งภายในปี 2554 คาดว่า โครงการฯนี้จะสามารถเริ่มขับเคลื่อนได้ทั้งระบบ

ปัจจุบันเกษตรกรมีความตื่นตัวและสนใจเข้าร่วมโครงการฯแล้วกว่า 200-300 ครัวเรือน มีทั้งกลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีแผนเร่งประสานความร่วมมือกับจังหวัดเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนโครงการฯดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบให้ กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป โดยจะเร่งสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยี พร้อมส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานไบโอดีเซลชุมชน กำลังผลิต 200 ลิตรต่อวัน ทั้งยังจะพัฒนาบุคลากร กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดตั้งกลุ่มพลังงานชีวมวล การวิจัยและพัฒนาต่อยอดเรื่องพลังงานชีวมวล และส่งเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อบริหารจัดการศูนย์ต้นแบบฯให้มี ประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน…

นายมนตรี จำปาศิริ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนานาด้วง ตำบลนาด้วง อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐให้การส่งเสริมด้านพลังงานชีวมวลเพื่อเป็นพลังงาน ทดแทนในชุมชน สำหรับกลุ่มเกษตรกรทำนานาด้วงมีสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการฯไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้โครงการฯได้ส่งเสริมให้สมาชิกที่เลี้ยงสุกรสร้างบ่อแก๊สชีวภาพ ขนาดเล็ก (สำหรับสุกร 50 ตัว) เพื่อผลิตก๊าซหุงต้มใช้ภายในครัวเรือน ขณะเดียวกันยังมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในแปลงปลูกพืชผัก ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ทั้งยังมีการสร้างโรงเพาะเห็ด และยังได้รับการส่งเสริมให้นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์มาก ขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย คาดว่าจะเป็นช่องทางช่วยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=117211

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น