วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

เยอรมนีประเทศต้นแบบพลังงานทดแทนของโลก

“เยอรมนี” นอกจากเป็นประเทศที่มีหมอดูแม่น ๆ อันดับ 1 ของโลกอย่าง “ปลาหมึกพอล” แล้ว ยังเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับ 1 ด้านการใช้ “พลังงานทดแทน” ของโลกด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ รัฐบาลเยอรมนีส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง รวมถึงทุ่มทุนทรัพย์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่ กังหันลม (วินด์ พาวเวอร์) พลังงานชีวภาพ (ไบโอ เอ็นเนอร์จี้) พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ เซลล์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทั่งกระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (ซีซีเอส) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน!!

เนื่องจากประเทศเยอรมนี เป็น 1 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม (จี 8) ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และใช้พลังงานจากน้ำมันสูงมาก โดยสูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว รวมถึงนำเข้าพลังงานน้ำมันกว่า 90% แต่ขณะเดียวกันเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติถ่านหินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นอันดับ 4 ของโลก จึงได้ทำข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มจี 8 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการหันมาพัฒนาพลังงานทดแทน และขณะนี้ได้ครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานทดแทนมากที่สุดในกลุ่มสหภาพ ยุโรปไปแล้ว

ด้วยศักยภาพข้างต้น ทำให้ “วีระพล จิรประดิษฐกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำคณะสื่อมวลชนบุกไปศึกษาแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย จึงทำให้ทราบว่า เยอรมนีจริงจังเรื่องเหล่านี้มาก ถึงกับออก “กฎหมายแหล่งพลังงานหมุนเวียน” อย่างชัดเจน และ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 12.5% ในปี 53 ก่อนจะเพิ่มเป็น 20% ในปี 63 และเป็น 50% ในอีก 30 ปีถัดไป พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการเครือข่ายส่งไฟฟ้า รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน และประกันอัตรารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำในรูปฟีดอินทารีฟส์ (ค่าไฟอัตราพิเศษ)

ทั้งนี้มีโครงการสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล คือ “ยึนเดอร์” ที่เมืองเกิททิงเงน เป็นโครงการหมู่บ้านพลังงานชีวภาพ (ไบโอ เอ็นเนอร์จี้ วิลเลจ) จากมูลวัวและมูลสุกรร่วมกับเศษพืชผักพืชไร่ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ส่งผลให้อีก 16 หมู่บ้านเริ่มที่จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

หมู่บ้านพลังงานชีวภาพ “ยึนเดอร์” นับเป็นแห่งแรกในเยอรมนี ที่ผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าจากชีวมวล ด้วยการหมักมูลวัวและมูลสุกร ร่วมกับเศษพืชผัก พืชไร่ในหมู่บ้าน มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5.4 ล้านยูโร ซึ่งกระทรวงอาหารเกษตรกรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลเยอรมนีให้เงินฟรี ๆ 1.3 ล้านยูโร ที่เหลือเป็นส่วนของภาคเอกชนที่สนใจ และชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการโดยการเป็นสมาชิกสหกรณ์ เสียค่าธรรมเนียม 1,500 ยูโร เพื่อให้มีสิทธิในการออกเสียง

ความร้อนที่ได้ จะถูกส่งไปยัง 145 ครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์ฯ โดยการผ่านท่อส่งความร้อนของเขต ส่วนไฟฟ้าที่ได้จะขายไปยังระบบไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งผู้ประกอบการสายส่งไฟฟ้าจะรับซื้อไฟและประกันอัตรารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ ในราคา 17 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากทำให้สมาชิกฯ ได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงแล้ว ยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละกว่า 3,300 ตัน และลดการใช้น้ำมันได้ปีละ 400,000 ลิตร รวมทั้งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้จากช่วงแรกที่มีประชาชนเข้าร่วมเพียง 60% แต่พอผ่านไป 3 เดือน เพิ่มเป็น 70% แล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นโครงการของชุมชนตนเอง

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย สนพ.ระบุชัดเจนว่า แนวคิดในการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น จะพยายามให้มาจากแนวคิดของชาวบ้านเองว่าต้องการอะไร และจัดการกันเอง ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เริ่มสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ผลิตจากผู้ผลิตขนาดเล็กมาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้แต่ละหมู่บ้านผลิตพลังงานใช้เอง จากวัตถุดิบในพื้นที่ เช่นที่ จ.พัทลุง รัฐเข้าไปสนับสนุนใช้ชาวบ้านนำขี้หมูมาผลิตพลังงานชีวมวล แล้วต่อท่อส่งเป็นก๊าซหุงต้มไปตามบ้านให้ชาวบ้านใช้ฟรี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดปัญหากลิ่นขี้หมูรบกวน

หรือที่หมู่บ้านใน จ.เชียงใหม่ ก็ใช้ขี้หมูมาผลิตพลังงาน ที่จ.ลำพูน ผลิตไบโอดีเซล และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทั้งนี้ยอมรับว่า ยังไม่สามารถพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบเหมือนยึนเดอร์ได้ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ลงทุนให้ประชาชนจึงขาดการมีส่วนร่วม ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ แม้ว่าขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ศึกษาและทดลองหลายโครงการ แต่ที่สำคัญต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่น ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สนพ. ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงไปศึกษาพัฒนาให้ “เกาะกูด” เป็นเกาะแห่งพลังงานทดแทน (กรีน ไอร์แลนด์) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดีเซลที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้าบนเกาะ โดยศึกษาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งโซลาร์เซลล์จากน้ำตก กังหันลม เพราะชาวบ้านบนเกาะต้องซื้อไฟที่ปั่นจากดีเซลหน่วยละ 15-20 บาท แต่หาก กฟภ.ลงทุน ขณะนี้ยังมีต้นทุนแพงกว่าค่าไฟฟ้าทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับชุมชนในพื้นที่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

โดยภาพรวมแล้ว เมืองไทยวางแผนพลังงานหมุนเวียนกำหนดอย่างชัดเจน ในแผนพลังงานทดแทน แต่ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย และกำลังศึกษาว่าจะนำระบบฟีดอินทารีฟส์ มาใช้ทดแทนระบบแอดเดอร์ได้อย่างไร โดยในส่วนของแอดเดอร์ที่จะปรับเป็นโครงการแรก คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่จะใช้รูปแบบฟีดอินทารีฟส์ เนื่องจากหากใช้แอดเดอร์แล้ว พบว่าผู้ประกอบการเอกชนจะได้กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนาจนทำให้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าลดลง แต่จะเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน ที่จะมีภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติถึง 23 สตางค์ ขณะที่ระบบฟีดอินทารีฟส์ นั้นเอกชนจะได้ค่าไฟฟ้าคงที่ เพราะไม่ได้บวกรวมในค่า เอฟที ที่ผันแปรไปตามราคาน้ำมันและกระทบต่อประชาชนน้อยกว่า

ส่วนเรื่องการประหยัดพลังงานนั้น อนาคตภาครัฐต้องมีมาตรการบังคับ หรือกึ่งบังคับออกมาเพิ่มเติม ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นให้ประหยัดพลังงาน หลังจากที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นเพื่อให้เกิดแรง จูงใจเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีระบบดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่ และเก็บก๊าซฯไว้ใต้ดินอย่างปลอดภัย (ซีซีเอส) ของ บริษัท วัตเท่น ฟอส์ ด้วยเทคโนโลยีการสันดาปเชื้อเพลิงด้วยออกซิเจน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูงมาก ถึง 16 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า รวมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากการเมืองและการเงิน ที่สำคัญคือการยอมรับจากประชาชนในการอัดก๊าซคาร์บอนกลับเข้าไปในชั้นใต้ดิน คาดว่าคงต้องพัฒนาอีกกว่า 10 ปี จึงจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ จึงยังไม่เหมาะสมกับเมืองไทยเท่าใดนัก

ส่วนพลังงานจากกังหันลมนั้น อาจใช้ได้กับเมืองไทยเพียงบางพื้นที่ และบางเวลาเท่านั้น เนื่องจากไม่มีลมแรงเหมือนต่างประเทศ ที่จะส่งให้กังหันหมุนแล้วกักเก็บพลังงานไว้ใช้ได้ แม้กระทั่งที่ลำตะคอง จะมีลมหมุนกังหันได้ก็ช่วงตี 2 ถึงตี 3 เท่านั้น ดังนั้นจึงเหลืออีกทางเลือกเดียวที่เห็นว่า น่าจะเหมาะสมกับการนำมาปรับใช้กับเมืองร้อนได้มากที่สุด นอกจากไบโอ เอ็นเนอร์จี้ วิลเลจแล้ว นั่นคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์นั่นเอง แต่ย้อนกลับมาดูนโยบายโซลาร์ เซลล์ของรัฐบาลไทยแล้ว ก็ต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะปัจจุบัน มีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทาน แถมยังเกี่ยวโยงสายสัมพันธ์กับนักการเมืองด้วย จึงทำให้ต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สูงมาก กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนเมิน!

ครั้นจะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า การประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด คือการไม่ใช้พลังงาน ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ในยุคที่ไทยต้องพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมต่างชาติ ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับทั้งรัฐบาล องค์กรต่าง ๆ รวมถึงประชาชน ว่ามีทัศนคติต่อการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่า และเน้นการหันมาใช้พลังงานทดแทนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ประเทศไทยคงจะพึ่งปลาหมึกพอลไม่ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเริ่มลงมือทำจริงจัง ก่อนที่พลังงานในโลกจะหมดลง.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentId=92192&hilight=%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

โลกต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตพลังงาน

ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนไหวของต่อการขาดความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต เนื่องจากปัญหาหลายด้าน อาทิ โครงสร้างการบริโภคพลังงานที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วน ใหญ่ โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้าสูงถึงร้อยละ 95 ของปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ กิจกรรมการใช้พลังงานที่ด้อยประสิทธิภาพทั้งในภาคการขนส่งและภาคการผลิต กลไกตลาดพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นผลจากการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งความท้าทายจากความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ด้านพลังงาน

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้เตรียมการรองรับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยเน้นหนักด้านการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้น ทั้งการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานฟอสซิลทั้งในและต่างประเทศ และการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน การสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) การแทรกแซงกลไกราคาพลังงานโดยกองทุนน้ำมัน การกระจายสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานชนิดต่างๆ ตลอดจนการจัดการด้านอุปสงค์ ทั้งโดยการลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผม นโยบายทั้งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและแผนในอนาคตยังไม่เพียงพอที่จะเป็น หลักประกันได้ว่า ประเทศไทยจะไม่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางพลังงานในอนาคต ผมจึงขอนำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน คือ “การทูตว่าด้วยพลังงาน”

ในอนาคตระยะสั้นถึงระยะกลาง ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก และยังต้องเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิอยู่ต่อไป เพราะไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศเพียงพอสำหรับความต้องการ ขณะที่การปรับโครงสร้างการใช้พลังงานไปสู่การใช้พลังงานทดแทนนั้นยังต้องใช้ เวลายาวนาน เช่นเดียวกับการนำพลังงานชนิดใหม่มาใช้ โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ยังมีกระแสต่อต้านที่รุนแรงมาก หรือพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานไฮโดรเจนที่ยังมีต้นทุนสูง

แต่การเข้าถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตจำเป็นต้องใช้การทูตหรือความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดน้ำมันโลกมีผู้ผลิตน้อยราย (oligopoly) ทำให้อำนาจต่อรองอยู่ที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความต้องการใช้ พลังงาน ทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อการได้มาซึ่งพลังงาน โดยเฉพาะประเทศจีนได้พยายามดำเนินการเจรจาและร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จำนวนมาก รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งมีนโยบายต่อ ต้านสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการของตน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์การทูตว่าด้วยพลังงานที่ชัดเจน

ผม เห็นว่าไทยมีช่องทางในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตว่าด้วยพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ส่งเสริมการลงทุนจากประเทศผู้ผลิตพลังงาน

ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้จากการ ขายน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล ประเทศไทยจึงควรส่งเสริมให้รัฐบาลหรือนักลงทุนจากประเทศเหล่านี้นำเงินเข้า มาลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปลายน้ำของอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ธุรกิจจัดจำหน่ายพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้ประเทศผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำมันมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของอุตสาหกรรม พลังงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่า ประเทศผู้ส่งออกพลังงานจะพยายามจัดหาพลังงานมาให้กับอุตสาหกรรมพลังงานใน ประเทศไทยอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในฐานะเจ้าของธุรกิจพลังงานในประเทศไทย


แลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

ในอนาคต โลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตการณ์พลังงานและวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ในภาวะความเสี่ยงดังกล่าว ประเทศไทยควรใช้ความได้เปรียบในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของ โลก ดำเนินการเจรจากับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ เพื่อแลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น การทำข้อตกลงว่าหากเกิดวิกฤตการณ์พลังงานหรือวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ทั้งสองประเทศจะจัดส่งพลังงานหรืออาหารให้กันและกันในปริมาณที่เพียงพอและ ระดับราคาที่เหมาะสม หรือการเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจพลังงานและธุรกิจอาหารระหว่างกัน ทั้งนี้กรณีที่มีนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ต้องการเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรในประเทศไทย สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีความตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร

ตั้งสำรองพลังงานระหว่างประเทศ

หลายประเทศทั่วโลกมีการสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่ง เช่น ประเทศสมาชิกของ International Energy Agency 28 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) สำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ขั้นต่ำ 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันของแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาสำรองน้ำมัน 158 วัน ญี่ปุ่น 161 วัน เยอรมนี 117 วัน ฝรั่งเศส 96 วัน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยมีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ 70 วันของปริมาณการบริโภคในประเทศ แต่การสำรองน้ำมันดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานสำหรับ ประเทศไทยเท่านั้น

ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรเจรจากับประเทศที่เป็นยุทธศาสตร์ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะให้สิทธิพิเศษในการซื้อขายน้ำมันสำรอง ให้แก่ประเทศสมาชิกก่อนประเทศอื่น ในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน แนวทางนี้มีหลักการคล้ายกับการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ประเทศอื่นได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทั้งนี้แนวทางในการตั้งสำรองพลังงานระหว่างประเทศอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำมันที่ประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิแรก (first right) แก่ประเทศไทยในการซื้อน้ำมันจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ การอนุญาตให้ประเทศสมาชิกตั้งคลังน้ำมันสำรองในประเทศไทย โดยที่ให้สิทธิพิเศษกับประเทศไทยในการซื้อน้ำมันสำรองดังกล่าว เป็นต้น

ประเด็น สำคัญคือการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่างซาอุดิอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลมิควรดำเนินการใดๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งเลวร้ายลงอีก

ในอนาคต โลกต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งในภาวะวิกฤต กลไกตลาดอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศจำเป็นต้องให้ความ สำคัญกับยุทธศาสตร์การทูตว่าด้วยการพลังงาน โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศผู้ ผลิตน้ำมันทั่วโลก

ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=646&contentId=92407&hilight=%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99