วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

โลกต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตพลังงาน

ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงทางพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนไหวของต่อการขาดความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต เนื่องจากปัญหาหลายด้าน อาทิ โครงสร้างการบริโภคพลังงานที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วน ใหญ่ โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้าสูงถึงร้อยละ 95 ของปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ กิจกรรมการใช้พลังงานที่ด้อยประสิทธิภาพทั้งในภาคการขนส่งและภาคการผลิต กลไกตลาดพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นผลจากการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งความท้าทายจากความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ด้านพลังงาน

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้เตรียมการรองรับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยเน้นหนักด้านการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้น ทั้งการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานฟอสซิลทั้งในและต่างประเทศ และการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน การสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) การแทรกแซงกลไกราคาพลังงานโดยกองทุนน้ำมัน การกระจายสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานชนิดต่างๆ ตลอดจนการจัดการด้านอุปสงค์ ทั้งโดยการลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผม นโยบายทั้งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและแผนในอนาคตยังไม่เพียงพอที่จะเป็น หลักประกันได้ว่า ประเทศไทยจะไม่ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางพลังงานในอนาคต ผมจึงขอนำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน คือ “การทูตว่าด้วยพลังงาน”

ในอนาคตระยะสั้นถึงระยะกลาง ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก และยังต้องเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิอยู่ต่อไป เพราะไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศเพียงพอสำหรับความต้องการ ขณะที่การปรับโครงสร้างการใช้พลังงานไปสู่การใช้พลังงานทดแทนนั้นยังต้องใช้ เวลายาวนาน เช่นเดียวกับการนำพลังงานชนิดใหม่มาใช้ โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ยังมีกระแสต่อต้านที่รุนแรงมาก หรือพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานไฮโดรเจนที่ยังมีต้นทุนสูง

แต่การเข้าถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตจำเป็นต้องใช้การทูตหรือความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดน้ำมันโลกมีผู้ผลิตน้อยราย (oligopoly) ทำให้อำนาจต่อรองอยู่ที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความต้องการใช้ พลังงาน ทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อการได้มาซึ่งพลังงาน โดยเฉพาะประเทศจีนได้พยายามดำเนินการเจรจาและร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จำนวนมาก รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งมีนโยบายต่อ ต้านสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการของตน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์การทูตว่าด้วยพลังงานที่ชัดเจน

ผม เห็นว่าไทยมีช่องทางในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตว่าด้วยพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ส่งเสริมการลงทุนจากประเทศผู้ผลิตพลังงาน

ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้จากการ ขายน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล ประเทศไทยจึงควรส่งเสริมให้รัฐบาลหรือนักลงทุนจากประเทศเหล่านี้นำเงินเข้า มาลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปลายน้ำของอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ธุรกิจจัดจำหน่ายพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้ประเทศผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำมันมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของอุตสาหกรรม พลังงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่า ประเทศผู้ส่งออกพลังงานจะพยายามจัดหาพลังงานมาให้กับอุตสาหกรรมพลังงานใน ประเทศไทยอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในฐานะเจ้าของธุรกิจพลังงานในประเทศไทย


แลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

ในอนาคต โลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตการณ์พลังงานและวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ในภาวะความเสี่ยงดังกล่าว ประเทศไทยควรใช้ความได้เปรียบในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของ โลก ดำเนินการเจรจากับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ เพื่อแลกเปลี่ยนความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงานระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น การทำข้อตกลงว่าหากเกิดวิกฤตการณ์พลังงานหรือวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ทั้งสองประเทศจะจัดส่งพลังงานหรืออาหารให้กันและกันในปริมาณที่เพียงพอและ ระดับราคาที่เหมาะสม หรือการเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจพลังงานและธุรกิจอาหารระหว่างกัน ทั้งนี้กรณีที่มีนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ต้องการเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรในประเทศไทย สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีความตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร

ตั้งสำรองพลังงานระหว่างประเทศ

หลายประเทศทั่วโลกมีการสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่ง เช่น ประเทศสมาชิกของ International Energy Agency 28 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) สำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ขั้นต่ำ 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันของแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาสำรองน้ำมัน 158 วัน ญี่ปุ่น 161 วัน เยอรมนี 117 วัน ฝรั่งเศส 96 วัน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยมีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ 70 วันของปริมาณการบริโภคในประเทศ แต่การสำรองน้ำมันดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานสำหรับ ประเทศไทยเท่านั้น

ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรเจรจากับประเทศที่เป็นยุทธศาสตร์ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะให้สิทธิพิเศษในการซื้อขายน้ำมันสำรอง ให้แก่ประเทศสมาชิกก่อนประเทศอื่น ในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน แนวทางนี้มีหลักการคล้ายกับการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ประเทศอื่นได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทั้งนี้แนวทางในการตั้งสำรองพลังงานระหว่างประเทศอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำมันที่ประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิแรก (first right) แก่ประเทศไทยในการซื้อน้ำมันจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ การอนุญาตให้ประเทศสมาชิกตั้งคลังน้ำมันสำรองในประเทศไทย โดยที่ให้สิทธิพิเศษกับประเทศไทยในการซื้อน้ำมันสำรองดังกล่าว เป็นต้น

ประเด็น สำคัญคือการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่างซาอุดิอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลมิควรดำเนินการใดๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งเลวร้ายลงอีก

ในอนาคต โลกต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งในภาวะวิกฤต กลไกตลาดอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศจำเป็นต้องให้ความ สำคัญกับยุทธศาสตร์การทูตว่าด้วยการพลังงาน โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศผู้ ผลิตน้ำมันทั่วโลก

ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=646&contentId=92407&hilight=%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น