วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โครงการ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ไทย-ลาว “น้ำงึม2”

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไฟฟ้ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และนับวันความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงต้องมองหาแหล่ง พลังงานสำรองเพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานและเสริมสร้างความมั่นคง ให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาช่องทางในการที่จะลดการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่าน หินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนก่อให้เกิดกระแส ต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2553-2573) ที่เน้นการรับซื้อไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทนและไม่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้พลังงานน้ำจึงเป็นทางเลือกลำดับต้นๆเพื่อใช้ในกระบวนการ ผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วงระยะเวลา 4 ปี (2549-2553) ที่ผ่านมา โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำงึม 2” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต อีกด้านคือเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทเซาท์อีสเอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ ส.ป.ป.ลาว โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาหลักในการออกแบบและก่อสร้าง โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30,832 ล้านบาท ถือว่าเป็นกิจการของคนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านรายใหญ่

เขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 ตั้งอยู่ทิศเหนือของเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ตัวเขื่อนตั้งขวางลำน้ำงึมที่บ้านห้วยม่อ แขวงเวียงจันทน์ ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินถม ดาดหน้าด้วยคอนกรีต มีความยาวของสันเขื่อน 485 เมตร สูง 181 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 615 เมกกะวัตต์ หรือปีละ 2,218 ล้านหน่วย (เท่ากับผลิตไฟฟ้าให้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้ทั้งจังหวัด) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งมายังสถานีไฟฟ้าบ้านนาบง เพื่อส่งผ่านไปยังจุดจำหน่ายไฟฟ้าชายแดนไทยลาว ที่บริเวณบ้านจอมแจ้ง ก่อนเชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อขายให้กับการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคในราคายูนิตละ 2 บาท

นายกำธร ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนน้ำงึม 2 ว่าการสร้างเขื่อนำไฟฟ้าพลังน้ำที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ประเทศลาวที่ได้ประโยชน์จากรายได้ที่เกิดจากขายไฟฟ้าเข้าประเทศ โดยยังสามารถรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ ในส่วนของประเทศไทยก็รับอานิสงค์ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกตลอดอายุสัมปทานที่ยาว นาน 27 ปี ซึ่งสัมปทานนี้จะไปสิ้นสุดในปี พ.ศ.2580 เท่ากับว่าตลอดระยะเวลา 27 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าบริสุทธิ์สำรองเพิ่มขึ้นโดยที่แหล่งพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินก็ไม่ถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง

เมื่อพิจารณาในแง่ความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ไฟฟ้าจากพลังน้ำมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานจาก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ส่งผลไปยังอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติน้อยมาก จึงเป็นประโยชน์โดยตรงกับคนไทยที่ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ได้รับเฉลี่ย 2.20-2.30 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าประเทศไทยในวันที่ 25 ธ.ค.2553 จะทำให้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าอัตราดังกล่าว

นอกจากนี้นายกำธรยังเปิดเผยว่า ในการนำเสนอโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าที่ ส.ป.ป.ลาวจะยอมเซ็นสัญญา เพราะทางรัฐบาลลาวต้องการความมั่นใจว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 2 นี้จะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้ง ส.ป.ป.ลาวและประเทศไทย 100% โดยที่ทาง ส.ป.ป.ลาว จะมีรายได้และเงินลงทุนสร้างเขื่อนอีกหลายพื้นที่ ตามแนวคิดของรัฐบาลลาวที่ประกาศจะผลักดันให้ ส.ป.ป.ลาวเป็น Battery of Asia ภายในปี พ.ศ.2563 ด้วยพลังงานการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกกะวัตต์

ไม่เพียงเท่านี้ ในแง่ของการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในพื้นที่ ผู้รับสัมปทานชาวไทยก็ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านราว 5,759 คน จาก 982 ครอบครัวใน 16 หมู่บ้าน ของเมืองไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ด้วยการสร้างเมืองใหม่โดยย้ายมาอยู่ที่เมืองเฟืองในแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีการพัฒนาและปรับพื้นที่ป่าให้กลายเป็นหมูบ้านจัดสรร 3 หมู่บ้าน พร้อมด้วยวัด โรงเรียน สถานีอนามัย ตลาดและถนนลาดยาง บนเนื้อที่ 2 ตารางกิโลเมตร ด้วยจำนวนเงินกว่า 400 ล้านบาท จนเป็นที่มาของความพอใจของผู้นำรัฐบาลลาว โดยยืนยันได้อย่างดีจากคำพูดของนายสราวุฒิ เสงี่ยมศักดิ์ ผู้แทนบริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กับรัฐบาลลาวว่า รัฐบาล ส.ป.ป.ลาวพอใจเป็นอย่างมากกับโครงการนี้ เพราะการสร้างเขื่อนไม่มีผลกระทบกับระบบนิเวศ และยังช่วยรักษาป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของเขื่อนน้ำงึม 2 ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพใหม่ไม่ต่ำกว่า 15 อาชีพ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณคนไทยที่มาช่วยพัฒนาประเทศโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาในกรณีที่เขื่อนแตกนั้น นายสราวุฒิได้อธิบายว่า เขื่อนน้ำงึม 2 ออกแบบให้รองรับกับภัยธรรมชาติกรณีแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์หรือกรณีที่มีปริมาณน้ำมาก ก็จะมีระบบการระบายน้ำที่ดี แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่น้ำจะล้นเขื่อนมีน้อยมาก เพราะการสร้างเขื่อนในโครงการนี้ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ไม่ใช่ทำแค่ 1-2 วัน ปัญหานี้คงจะไม่เกิดกับเขื่อนนี้แน่นอน

ในอนาคตข้างหน้า นักลงทุนของไทยยังมีโครงการไชยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างฝายกั้นแม่น้ำโขง กำลังการผลิต 1280 เมกกะวัตต์ โดยจะมีการลงนามในสัญญาเดือน ต.ค.นี้ ด้วยมูลค่าโครงการสูงถึง 110,000 ล้านบาท ในระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนน้ำงึม 2 ถึง 2 เท่า

ไม่เพียงแต่ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดที่ทำให้โครงการสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 เป็นไปได้อย่างราบรื่นแล้ว เหตุผลที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ แรงสนับสนุนโดยปราศจากกระแสต่อต้านของคนในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมากกว่าผลประโยชน์ส่วน ตัว อันเป็นผลจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและการจัดการที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล เขื่อนน้ำงึม 2 ประสบความสำเร็จและเป็นที่ภูมิใจของคนลาว เพราะที่นั่นไม่ค่อยมี “ตัวถ่วง” จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเจริญเหมือนกับบ้านเรา

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=660&contentID=96756