วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ต้นแบบกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแบบพอเพียง

แม้น้ำมันจะลดราคา แต่ยังขอสนับสนุนเรื่องของพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนกว่าต่อไป

และนี่…ก็คืออีกหนึ่งผลงานของนักวิจัยไทย ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพึ่งพาตนเอง

กับ “ต้นแบบกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า” ผลงานของศูนย์เทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการบริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยสยาม ที่นำมาจัดแสดงใน “งานนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554”

พ.ต.ประพัฒน์ อุทโยภาศ ผู้วิจัย บอกว่า เครื่องนี้เป็นต้นแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานร่วม คือ พลังงานจากกังหันลม (Wind Turbine) และเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ร่วมกัน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้งานในบริเวณที่ไม่มีสายส่งไฟฟ้าเข้าถึง

ทั้งนี้ปกติกังหันลมที่นำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วไป แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ กังหันลมที่มีแกนหมุนอยู่ในแนวราบ (HAWT) และ กังหันลมที่มีแกนหมุนอยู่ในแนวตั้ง (VAWT)

ความแตกต่างระหว่างกังหันลมทั้งสองแบบก็คือตำแหน่งของใบกังหัน โดยกังหันลมแบบ HAWT จะติดตั้งอยู่บนเสาสูง แกนของการหมุนของใบกังหันจะอยู่ในแนวราบและอยู่ส่วนบนสุดของเสา มีใบกังหันหมุนอยู่กลางอากาศอย่างที่เห็นได้ชัด ซึ่งมักพบเห็นอยู่ทั่วไป แต่มีราคาสูงเนื่องจากต้องใช้เสาขนาดใหญ่

แต่กังหันลมแบบ VAWT ใบกังหันจะหมุนรอบแกนของการหมุนซึ่งตั้งอยู่ในแนวดิ่ง ไม่มีอันตรายจากใบพัด ทำให้สามารถติดตั้งในระดับใกล้พื้นดินได้

นักวิจัยเลือกที่จะพัฒนากังหันลมแบบที่มีแกนหมุนอยู่ในแนวตั้ง หรือ VAWT เนื่องจากสามารถติดตั้งได้ง่าย ปลอดภัยสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ราบ ค่าก่อสร้างถูก ซ่อมแซมได้ง่าย ขณะเดียวกันการติดตั้งและเคลื่อนย้ายก็สามารถทำได้สะดวก และสามารถรับลมได้ในทุกทิศทาง

ผู้วิจัยบอกว่าสำหรับเครื่องต้นแบบนี้ ใช้งบประมาณ ประมาณ 50,000 บาทต่อเครื่อง สามารถผลิตไฟได้พอเพียงกับการใช้งานในครัวเรือน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่อยู่ในทุ่งกว้างหรือบ้านพักที่อยู่ริมทะเล

ปัจจุบันเครื่องดังกล่าวมีการทดสอบใช้งานแล้วที่ ม.สยาม อนาคตจะมีการปรับปรุงและขยายให้เป็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกด้วย.


http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=160555

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โรงไฟฟ้า อิโซโกะ ต้นแบบพลังงานสะอาดเคียงคู่ชุมชน

ปฏิวัติพลังงานสะอาดเคียงคู่ชุมชน

ถึงเวลาปรับแนวคิดการ สร้างโรงไฟฟ้าในไทยกันเสียที…เมื่อมีโอกาสได้สัมผัสกับ “โรงไฟฟ้า อิโซโกะ” ของ บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เจพาวเวอร์ ในเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะใช้โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังไอน้ำและ ไฟฟ้าร่วมที่มีขนาดเล็ก แต่สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อดูแลชาวโตเกียวและโยโกฮามา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูงจนทำให้คนในเมืองสามารถ อยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้โดยไม่มีเสียงเรียกร้องใด ๆ เกิดขึ้น

โรงไฟฟ้าอิโซโกะ มีอายุยาวนานกว่า 40 ปี โดยเริ่มผลิตไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2510 ต่อมาได้มีการปรับปรุงโฉมใหม่จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2552 ใช้งบลงทุนจำนวนมากถึง 25,000 ล้านเยน เพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยเพื่อให้ได้การผลิตไฟฟ้าที่มี ประสิทธิภาพจากกำลังคนเพียงแค่ 200 คน และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการปล่อยสารไนโตรเจนออกไซด์และสารซัลเฟอร์ออกไซด์ ได้สูงสุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งยังสามารถกำจัดมลพิษได้มีประสิทธิภาพกว่า 99.94% มีระบบบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต และยังมีการปรับระบบการส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นจากเดิมด้วย

ด้วยกำลังการผลิต 1.2 ล้านเมกะวัตต์ จากการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดทั้งภายในประเทศญี่ปุ่นเองและนำเข้ามาจาก ประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าวันละ 10,000 ตัน ขณะที่ภายในโรงงานมีโรงไซโลบรรจุถ่านหินเก็บไว้ภายในอย่างมิดชิด ทำให้เมื่อเข้าไปสำรวจทั่วโรงงานจะไม่มีโอกาสได้เห็นถ่านหินแม้แต่ก้อนเดียว จึงไม่เกิดปัญหาฝุ่นละออง หรือเกิดปัญหาเสียงสั่นสะเทือนใด ๆ

“ซิคุดะ ฮิเดกิ” ผู้จัดการโรงไฟฟ้า อิโซโกะ ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เลือกใช้ถ่านหินมาเป็นพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ว่า ข้อดีของถ่านหินคือ มีต้นทุนถูกที่สุดเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานชนิดอื่นที่ สำคัญถ่านหินเป็นทรัพยากรที่มีมากและมีอยู่ทั่วโลก โดยถ่านหินใช้แล้วจะนำมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์ด้วย และถ่านหินเกือบทั้งหมดจึงถูกนำมาเป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังไม่ถูกชุมชนออกมาต่อต้าน เพราะได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจและให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม และได้มีการร่างสนธิสัญญารักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในเมืองอย่างเข้มงวด โดยในร่างสนธิสัญญาจะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษ ต้องน้อยที่สุดและเข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนในประเทศญี่ปุ่น

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ผ่านมาทำไม? ในญี่ปุ่นจึงไม่เคยเกิดปัญหาการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าและไม่ใช่เพียงแค่ โรงไฟฟ้าอิโซโกะ แค่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่โรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ในญี่ปุ่น ก็เช่นกันไม่เคยมีปัญหาต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าทุกแห่งต่างมีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ “ซิคุดะ” ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันเจพาวเวอร์ ยังอยู่ระหว่างทำการวิจัยและพัฒนาสร้างโรงงานไฟฟ้าต้นแบบที่ผลิตไฟฟ้าและไม่ มีการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษออกสู่อากาศเลยด้วย และมีความเป็นไปได้สูงมากที่คนทั้งโลกจะมีโอกาสได้เห็นโรงไฟฟ้าดังกล่าวออก มาในอนาคต และในปี 57 ประเทศญี่ปุ่นจะมี “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์” เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศด้วย โดย บริษัท เจพาวเวอร์ ได้เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง โดยการเลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์ก็เพราะมีต้นทุนที่ถูกที่สุดซึ่งถูกกว่าการ ใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติด้วยซ้ำ จึงเชื่อได้ว่าโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้จะกลายเป็นต้นแบบครั้งสำคัญของโรงไฟฟ้า ทั่วโลกอีกครั้ง และอาจทำให้หลายประเทศที่ชะลอแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ต้องกลับมาทบทวน
อีกครั้ง

ขณะที่ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โต้โผใหญ่ที่นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมและศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าอิโซโกะในครั้ง นี้บอกว่า เพราะเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบที่สำคัญของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงโรงไฟฟ้าของไออาร์พีซีด้วย เนื่องจากมีระบบการบริการจัดการภายในที่ดี ทั้งด้านระบบการผลิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงทำให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้นานถึง 30 ปีโดยไม่มีปัญหา

ที่สำคัญโรงไฟฟ้าอิโซโกะยังถือเป็นต้นแบบสำคัญของโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วม (CHP: Combined Heat and Power Project) ที่ใช้เงินลงทุนราว ๆ 8,000 ล้านบาท บนพื้นที่รวม 21 ไร่ ในเขตประกอบกิจการของบริษัท ที่ จ.ระยอง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นตัวผลิตไฟฟ้า และจะสามารถเดินเครื่องการผลิตได้ในเดือน ก.ค.54 นี้ หลังจากนั้นบริษัทจะหยุดใช้โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงระบบเดิม ทันที

บอสใหญ่ของไออาร์พีซียังระบุด้วยว่าการเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำและไฟฟ้า ร่วมนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าได้มากขึ้น รวมถึงยังช่วยป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับและไฟฟ้าตกที่เกิดขึ้นในบริเวณชุมชนโดย รอบ ทำให้บริษัทมีโอกาสแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคตรวมทั้งยังจะเป็นตัวอย่างที่ดี แก่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับประชาชนในพื้นที่ด้วย

โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วมนี้ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 220 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไอน้ำได้ 420 ตันต่อชั่วโมง รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ที่เป็นตัวการก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 400,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกป่าในพื้นที่ขนาด 23,059 ไร่ ถือว่าเป็นโครงการที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากที่สุดในไทย

นอกจากนี้บริษัทยังสามารถนำโครงการนี้เข้าร่วมโครงการลดภาวะโลกร้อน เพื่อขายเป็นคาร์บอนเครดิต (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่ สะอาด) ด้วย โดยอยู่ระหว่างเจรจาขายคาร์บอนเครดิตแก่องค์การสหประชาชาติ รวมถึงยังมีเอกชนไทยหลายราย อาทิ การบินไทย สนใจติดต่อซื้อคาร์บอนเครดิตของบริษัทเช่นกัน จึงอยากให้องค์กรอื่นของไทยหันมาตื่นตัวเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตมาก ขึ้น

การเริ่มต้นกับก้าวใหม่ของ “ไออาร์พีซี” ที่วางแผนสู่การปฏิรูปโรงไฟฟ้าของไทยครั้งใหม่ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงนั้น ถือเป็นการจุดกระแสตื่นตัวให้กับโรงไฟฟ้าขององค์กรรัฐที่จะหันมาทบทวนนโยบาย สร้างโรงไฟฟ้ากันใหม่อีกครั้ง…เพราะประเทศไทยยังสามารถสร้างไฟฟ้าแห่งใหม่ ขึ้นได้ หากมีแผนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง!!!.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=310&contentID=123175

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานจาก3แหล่งพลังงาน

หากพูดถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์หลายคนคงนึกถึงแผงโซล่าเซลล์ และหากพูดถึงพลังงานลมแน่นอนว่าเราคงนึกถึงกังหันลมกัน ซึ่งทั้งสองอย่างต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ต่างกันออกไป แต่ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นักศึกษา ซึ่งประกอบด้วย นายกฤษฎา พรหมพินิจ นายบุญยัง ปลั่งกลาง นายกฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ และ นายสมชัย หิรัญวโรดม ได้สร้างเครื่องต้นแบบโมบายจากพลังงานแบบผสมผสานได้สำเร็จ ซึ่งเครื่องต้นแบบดังกล่าว เป็นการผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเครื่องกำเนินดีเซล

โดยผู้วิจัยได้อธิบาย ว่า การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน คือ การรวมแหล่งพลังงานที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ และผสมกับแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ โดยมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นแหล่งจ่ายพลังงานเสริม กล่าวคือ ในเวลากลางวัน เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมเพียงพอต่อความต้องการ ระบบจะจ่ายพลังงานไปยังโหลดโดยตรง และประจุไฟแบตเตอรี่ที่บางเวลา เมื่อต้องการใช้ไฟจากแบตเตอรี่จะแปลงไฟฟ้าผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าสองทาง สำหรับจ่ายพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ

ส่วนเวลากลางคืน ระบบไฮบริดจ์จะจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยใช้ไฟฟ้าที่ประจุอยู่ในแบตเตอรี่ และถ้ากังหันลมสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ พลังงานลมจะสามารถจ่ายพลังงานไปยังระบบได้ตลอดเวลา และถ้าแบตเตอรี่ไม่สามารถจ่ายพลังไปยังโหลด ระบบควบคุมจะสั่งการสตาร์ทเครื่องกำเนิดทันที เพื่อจ่ายพลังงานให้กับโหลด และประจุแบตเตอรี่ที่บางเวลา อย่างไรก็ตาม ถ้าแบตเตอรี่ประจุเต็ม และโหลดไม่มีความต้องการ ระบบจะสั่งการให้สวิตช์ตัดแหล่งจ่ายพลังงานลม และเซลล์แสงอาทิตย์ออกจากระบบ เพื่อความปลอดภัยของกังหันลม จึงมีการ Dump Load สำหรับกรณีดังกล่าว

สำหรับต้นแบบโมบายที่ประดิษฐ์ขึ้นเครื่องนี้ ประกอบด้วยระบบวัดบันทึกแสดงผลแบบ Real-time สามารถควบคุมการทำงานทั้งหมดแบบอัตโนมัติ ในการออกแบบเครื่องนั้น ประกอบด้วย แผงเซลล์แสงอาทิตย์พิกัดขนาด 2kWp, กังหันลมขนาด 1 kW แบตเตอรี่ขนาด 24 kWh และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด 5 kW หลังจากผ่านมาทดสอบมาอย่างยาวนานแล้ว พบว่า ระบบสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้โหลดได้อย่างต่อเนื่อง และทำงานได้เสถียรภาพ สามารถจ่ายพลังงานไปยังโหลด โดยไม่มีช่วงการขาดพลังงาน ส่วนวัตถุประสงค์ในการผลิต เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ดังนั้น เครื่องโมบายไฮบริดจ์จึงถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของห้องคอนเทนเนอร์(Container) ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก

นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่รวมเอาประโยชน์จากพลังงานทั้งสามแหล่งมาไว้ด้วยกัน ได้อย่างลงตัวทีเดียว และขณะนี้เครื่องต้นแบบโมบายไฮบริดจ์ถูกนำมาใช้ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี หากผู้ใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 086-899-2996.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=121739&categoryID=651

สร้างโรงไฟฟ้า พลังแสงอาทิตย์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี

นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับเลือกให้เป็นผู้รับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ บริษัท ไอเฟค กรีน เพาเวอร์ พลัส จำกัด ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ขนาด 5 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ รวมมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนเม.ย.นี้ คาดแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่างานที่บริษัทได้รับจากงานดังกล่าว 850 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่างานในมือปัจจุบันเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท และผลักดันให้รายได้รวมสิ้นปีนี้เป็นตามเป้าหมาย 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภายในเดือน มี.ค. นี้ บริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการเข้าถือหุ้นในบริษัท ไอเฟค กรีนเพาเวอร์พลัส จำกัด เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน นอกจากนี้ บริษัทเตรียมยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 200 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท คาดว่ามีโอกาสได้งานดังกล่าว 10% และน่าจะทราบผลการประมูลภายในเดือน ก.พ. นี้

“หลังจากที่บริษัทได้ย้ายกระดานซื้อขาย (เทรด) หุ้นมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากเดิมตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ถือว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เพราะหุ้นของบริษัทมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นตามวัตถุประสงค์ของบริษัทเนื่องจากในอนาคตมีแผนจะเพิ่มทุนรองรับการ ขยายกิจการ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างตั้งบริษัทลูกภายใต้ชื่อ เด็มโก้ เพาเวอร์ เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งพลังงานลม และแสงอาทิตย์”.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=121701

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การวิจัยสาหร่ายผลิตน้ำมันอย่างก้าวกระโดด

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โชว์งานวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันด้วยเทคนิคการย้อมสีแห่งแรกของ ไทย ระบุเป็นการวิจัยสาหร่ายผลิตน้ำมันอย่างก้าวกระโดด เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในอนาคตที่รวดเร็วขึ้น

“ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ วว.ได้ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศ ไทย โดยปัจจุบันพบว่ามีสาหร่ายสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทยแล้วกว่า 40 สายพันธุ์ และจากนี้จะนำสาหร่ายสายพันธุ์ดังกล่าวมาขยายผลในระบบการเพาะเลี้ยงกลางแจ้ง ต่อไป เพื่อการวิจัยพัฒนาที่ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้จริง

ส่วนปัญหาที่หลาย ๆ คนเป็นห่วงในการใช้พืชอาหารมาทำพลังงานทดแทนที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตร เช่น ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย มีราคาสูงขึ้นนั้น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ บอกว่าการใช้สาหร่ายสำหรับทำพลังงานทดแทนจะไม่กระทบกับราคาสินค้าเกษตรโดย ตรงอย่างแน่นอน

ด้าน ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และผู้จัดการเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ วว. คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันและพัฒนาการเพาะเลี้ยงในระดับขยาย เชิงพาณิชย์กลางแจ้งแล้ว ในส่วนของน้ำมันที่ได้ ปตท. จะนำไปวิเคราะห์คุณสมบัติและพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมในการใช้งานต่อไป

ทั้งนี้ ปตท. สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาทในการดำเนินโครงการ ภายใต้การดำเนินงานของ เครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี (พ.ศ. 2551-2558) มีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเป้าหมายเชิงเทคนิคให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40% หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 6 ตันน้ำมันต่อไร่ต่อปี ไม่รวมผลิตภัณฑ์พลอยได้ จำพวกโปรตีนคุณภาพสูง และสารสกัดจำพวกกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย

ซึ่งในเบื้องต้นมีการประเมินต้นทุนการผลิต ซึ่งมวลสาหร่ายอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง โดยมีปริมาณน้ำมันที่ 20-30% ของสาหร่ายแห้ง ซึ่งยังคงเป็นต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงอยู่

นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายมาเป็นเวลากว่า 25 ปี มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและจีน มีคลังสาหร่ายเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายที่แยกจากระบบนิเวศต่าง ๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ และมีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100–10,000 ลิตร รวมทั้งมีนักวิชาการและทีมงานที่เชี่ยวชาญ ซึ่งมีประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาด้านสาหร่าย ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนามมากกว่า 25 ปี ทำให้มีข้อได้เปรียบสูงด้านการคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดในการ ต่อยอดงานวิจัยแขนงต่าง ๆ

ที่สำคัญงานวิจัยเหล่านี้มีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งด้านองค์ความรู้และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด ซึ่งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชน ในการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=121323&categoryID=478

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ระบบแปลงเกษตรอัจฉริยะ ด้วยพลังงานโซลา ร์เซลล์

นิสิตวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ทีม KU-SRCWIN นำแผงโซลาร์เซลล์มาผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนผ่านระบบแปลงเกษตร อัจฉริยะ

คว้ารางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดในโครงการ M-150 IDEOLOGY 2010 โซลาร์เซลล์เพื่อชุมชนพอเพียง

ทีม KU-SRCWIN เป็นนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย นายฉัตรชัย วงศ์ชนะภัย นายยุวรัตน์ สุขตระกูล นายอัครพงศ์ วงศ์อรุณ นายศราวุธ จันใด นายจุมพล วิชชุกรจิรภัค นาย กระแส เตชะศรินทร์ นายนรินธร คณะมูล นายชูเกียรติ มา ลัยลอย นายสุร กิจ เที่ยงพลับ และนายธนภัทร ทองทรัพย์ โดยมีอาจารย์ทวีชัย อวยพรกชกร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม

โครงงานของทีม KU-SRCWIN เป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์มาพัฒนาเพื่อการสาธารณประโยชน์ ของชุมชนโดยลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านเก่าค้อ อำเภอคง จังหวัด นครราชสีมา โดยเริ่มจากการสร้างระบบต่าง ๆ รองรับ

อาทิระบบแปลงเกษตรอัจฉริยะ ก็คือการสร้างบ่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและใช้ทำ การเกษตรกรรม โดยนำเทคโนโลยีไมโคร คอนโทรลเลอร์ เข้ามาใช้ในการควบคุมเปิด- ปิดน้ำที่ใช้รดแปลงผักโดยอัตโนมัติ ซึ่งขั้นตอนการทำงานจะใช้เวลาและเซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินเป็นตัวกำหนด เงื่อนไขการจ่ายน้ำระบบบ่อเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ใช้เทคโนโลยีไมโครคอนโทรลเลอร์ ในการวัดระดับปริมาณน้ำ สำหรับเชื่อมต่อกับระบบสูบน้ำและระบบแสดงผลพลังงาน

นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับโครงการระบายน้ำของทางโรงเรียนเพื่อนำน้ำส่วนที่ เกินจากความต้องการนำมากักเก็บในบ่อไว้ใช้ในยามขาดแคลน และเป็นการผสานประโยชน์ระหว่างโครงการของทางโรงเรียนกับระบบ อีกทั้งน้ำในบ่อน้ำจะสามารถเลี้ยงปลาเพื่อใช้เป็นการเพาะพันธุ์หรือใช้ในการ ประกอบอาหารกลางวันของทางโรงเรียนซึ่งจะมีระบบป้องกันระดับน้ำในบ่อไม่ให้นำ ไปใช้ในส่วนอื่นจนระดับน้ำไม่พอแก่การเลี้ยงปลาอีกด้วย

ส่วนระบบประปาหมู่บ้าน มีการนำไฟฟ้าที่เหลือใช้จากการใช้ไฟฟ้าโครงการหลักมาใช้กับเครื่องสูบน้ำ ขนาด 400 วัตต์จำนวน 2 เครื่อง ให้ทำงานควบคู่กับระบบเดิมของ ทางประปาหมู่บ้าน จะช่วยลดระยะเวลาการทำงานของระบบสูบน้ำหลักคือระบบมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 แรงม้า ซึ่งปกติต้องเสียค่าไฟประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน เป็นผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานไฟฟ้าของระบบประปาหมู่บ้าน และชาวบ้านจะได้มีน้ำประปาใช้ตลอดวัน

การทำงานมีระบบแสดงผลพลังงาน ซึ่งนำเทคโนโลยีระบบแสดงผลพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการและแสดงผลระดับ น้ำจากแหล่งผลิตน้ำในรูปแบบที่ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ง่าย

...โครงการนี้นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้ นักเรียนและชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าในการมีอยู่อย่างจำกัดของพลังงานและเกิดความภาคภูมิใจ ในพลังงานที่สามารถผลิตได้ด้วยตนเองและยังเป็นแหล่งความรู้ของนักเรียนและ ชุมชนโดยรอบที่สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเอง ตามความเหมาะสมอีกด้วย..

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=319&contentId=114641&hilight=%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.

พลังงานทดแทนครบวงจรที่ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย

กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับกระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ ประเทศญี่ปุ่น เร่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการบริหารวัตถุดิบเพื่อ พลังงานทดแทนครบวงจรขึ้นในพื้นที่ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ภายใต้ โครงการไบโอแมส ทาวน์ (Biomass Town) โดยมุ่งให้กลุ่มเกษตรกร ชุมชนและท้องถิ่นนำชีวมวลโดยเฉพาะ เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน เช่น ไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

พื้นที่อำเภอนาด้วง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นชุมชนพลังงานชีวมวลต้นแบบ ซึ่งเดิมเกษตรกรมีการผลิตพืชหลักหลายชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ไม้ผล และยางพารา ทั้งยังมีการผลิตปศุสัตว์ในพื้นที่ด้วย โดยแต่ละปีจะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรค่อนข้างมาก และปัจจุบันเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชใหม่เพิ่มขึ้น คือ ปาล์มน้ำมัน ประมาณ 5,000-7,000 ไร่ ซึ่งอนาคตกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนผลักดันให้ชุมชนนำผลผลิตปาล์มน้ำมันเข้า สู่ระบบการผลิตพลังงานชีวมวลและนำเศษวัสดุที่เหลือมาใช้ประโยชน์และสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนด้วย ซึ่งภายในปี 2554 คาดว่า โครงการฯนี้จะสามารถเริ่มขับเคลื่อนได้ทั้งระบบ

ปัจจุบันเกษตรกรมีความตื่นตัวและสนใจเข้าร่วมโครงการฯแล้วกว่า 200-300 ครัวเรือน มีทั้งกลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีแผนเร่งประสานความร่วมมือกับจังหวัดเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนโครงการฯดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบให้ กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป โดยจะเร่งสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยี พร้อมส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานไบโอดีเซลชุมชน กำลังผลิต 200 ลิตรต่อวัน ทั้งยังจะพัฒนาบุคลากร กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดตั้งกลุ่มพลังงานชีวมวล การวิจัยและพัฒนาต่อยอดเรื่องพลังงานชีวมวล และส่งเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อบริหารจัดการศูนย์ต้นแบบฯให้มี ประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน…

นายมนตรี จำปาศิริ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนานาด้วง ตำบลนาด้วง อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐให้การส่งเสริมด้านพลังงานชีวมวลเพื่อเป็นพลังงาน ทดแทนในชุมชน สำหรับกลุ่มเกษตรกรทำนานาด้วงมีสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการฯไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้โครงการฯได้ส่งเสริมให้สมาชิกที่เลี้ยงสุกรสร้างบ่อแก๊สชีวภาพ ขนาดเล็ก (สำหรับสุกร 50 ตัว) เพื่อผลิตก๊าซหุงต้มใช้ภายในครัวเรือน ขณะเดียวกันยังมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในแปลงปลูกพืชผัก ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ทั้งยังมีการสร้างโรงเพาะเห็ด และยังได้รับการส่งเสริมให้นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์มาก ขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย คาดว่าจะเป็นช่องทางช่วยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=117211