วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ปั่นไฟได้กำลัง 10 วัตต์ รับประทานอาหารฟรี 1 มื้อ

โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเดนมาร์กอาสานำร่องกับแผนการใช้เครื่องปั่นไฟด้วย แรงปั่น หวังให้ประเทศอื่น ๆ นำไปใช้เป็นแบบอย่างเพื่อเรียกลูกค้า

เดอะ คราวน์ พลาซ่า โคเปนเฮเกน ทาวเวอร์ ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงของเดนมาร์ก ก็แค่เดิน 15 นาทีเท่านั้น และห่างจากสนามบิน 5 นาทีเท่านั้นก็ถึง ดังนั้นทำเลถือว่าได้เปรียบอย่างมาก โรงแรมแห่งนี้มีเครื่องปั่นไฟ 2 เครื่อง ซึ่งต้องใช้แรงปั่นเหมือนกับจักรยานออกกำลังกาย

แขกที่มาพักจะได้รับการเชิญชวนให้ลองปั่นดู หากใครปั่นแล้วได้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอกับเขาต้องการ ก็จะแถมอาหารให้ 1 มื้อฟรี จะเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน มิ.ย. พวกแขกที่มาพักก็จะต้องแข่งกันใช้บริการตรงนี้ นอกเหนือไปจากระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ ของโรงแรม ซึ่งมีห้องพักทั้งหมด 366 ห้อง

ใครก็ตามที่สามารถปั่นไฟได้กำลัง 10 วัตต์ ก็จะได้รับบัตรสมนาคุณรับประทานอาหารฟรี 1 มื้อ ไม่เพียงแต่จะได้ออกกำลังกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดโลกร้อน ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และที่สำคัญประหยัดเงินได้อีกด้วย

โฆษกของโรงแรมย้ำว่า อาหารฟรี 1 มื้อนั้น เฉพาะแขกที่มาพักเท่านั้น พวกขาจรหมดสิทธิ สำหรับอาหารฟรีนั้นแขกสามารถเลือกได้เลยว่า จะรับที่ห้องอาหาร ของโรงแรมหรือห้องล็อบบี้ มูลค่านั้นอยู่ที่ 240 โครน ( 44 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ตกประมาณ 1,430 บาท)

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=48&contentID=61810

อินโดนีเซียเริ่มใช้พลังงานจากภูเขาไฟ

อินโดนีเซียได้เริ่มแผนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือนำเอาพลัง มากมายมหาศาลจากภูเขาไฟจำนวนมากของตนมาใช้ประโยชน์ และเป็นผู้นำโลกในด้านภพลังงานความร้อนใต้พิพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย

หมู่เกาะที่เรียงรายด้วยเกาะถึง 17,000 เกาะ ทอดยาวจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก มีภูเขาไฟอยู่หลายร้อยลูก ประมาณกันว่าจะมีพลังงานความร้อนใต้พิภพคิดเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานดังกล่าวทั่วโลก แต่จนถึงขณะนี้มีการปลดปล่อยมาเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิเหนาจึงพยายามแสวงหาความช่วยเหลือจากนักลงทุนเอกชน ธนาคารโลกและหุ้นส่วนอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำพลังงานที่ซ่อนอยู่ใต้ดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์

สุรยา ดาร์มา ประธานสมาคมพลังงานความร้อนฯของอินโดนีเซียเผยว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่จะเพิ่มศักยภาพด้านพลังงานฯอีก 4,000 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่เดิม 1,189 เมกะวัตต์ ภายใน ปี 2557 “ถือเป็นเรื่องท้าทาย” อุปสรรค สำคัญอันดับแรกคือค่าใช้จ่าย ปัจจุบันอินโดนีเซียพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินสกปรกในการเผา โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯมีราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 เท่า และอาจใช้เวลาอีกหลายปีในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ใช้งานได้ และการจะเพิ่มอีก 4,000 เมกะวัตต์ต้องลงทุนอีก 12,000 ล้านดอลลาร์ฯ ดาร์มา กล่าว

แต่ทันทีที่สร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯแบบเดียวกับที่คาโมจัง ชวา เมื่อปี 2525 สามารถเปลี่ยนความร้อนจากภูเขาไฟที่ไม่มีวันหมด ให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองโสหุ้ยน้อยกว่า และมีมลพิษน้อยกว่าถ่านหิน และนี่ถือเป็นจุดเด่นที่รัฐบาลหวังจะเอาไปขายในการประชุมนาน 6 วัน ว่าด้วยพลังงานความร้อนฯโลกครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มไปแล้วที่เกาะบาหลีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

หากจะมีประเทศใดในโลกนี้ ที่พลังงานความร้อนฯเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลที่สุด ก็อินโดนีเซียนี่แหละ แต่แม้จะได้เปรียบทางธรรมชาติ อินโดนีเซียยังคงล้าหลังสหรัฐและฟิลิปปินส์ด้านการผลิตพลังงานความร้อนฯ ประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก สุดเป็นอันดับสามของโลกใช้ประโยชน์ แหล่งพลังงานความร้อนฯเพียงแค่ 7 แห่ง เท่านั้น จากจำนวนมากกว่า 250 แห่ง ที่สามารถพัฒนาได้

เหตุผลที่จะหันมาใช้พลังงานความร้อนฯเพิ่มมากขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของอินโดนีเซีย และสอดคล้องกับความเสื่อมทรุดของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หมู่เกาะพร้อมประชากร 234 ล้านคนแห่งนี้ นับเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดของกลุ่มจี-20 แต่ปัจจุบันชาวอิเหนาเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เข้าถึงไฟฟ้า เป้าหมายคือจะต้องให้ถึงประชากร 90 เปอร์เซ็นต์ภายในปลายทศวรรษนี้

คำมั่นของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโฮโยโน ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 25 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 ยิ่งกระตุ้นให้มีการผลักดัน พลังงานความร้อนใต้พิภพมากยิ่งขึ้น การเจรจาโครงการ 340 เมกะวัตต์บนเกาะสุมาตราเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการซารุลลาจะเป็นโครงการโรงงาน พลังงานความร้อนฯใหญ่สุดเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย ต่อจากโรงไฟฟ้า วายัง วินดู ในชวาตะวันตก.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=31&contentID=62086

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากน้ำ

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงนามในสัญญาความร่วมมือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เป็นโครงการนำร่อง ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำที่เหลือจากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล

โดยโครงการนี้ จะใช้พื้นที่ของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมัน กระบี่ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 39 หมู่ 1 ใน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ มีเนื้อที่ 3.5 แสนไร่ ทำการผลิตก๊าซชีวภาพ และผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 95 ล้านบาท มีอายุโครงการ 15 ปี

ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในปี 2553 นี้ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์หลายประการ อาทิ ลดการนำเข้าปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน และช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนในการจ้างงาน เป็นต้น

สำหรับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม น้ำมันกระบี่ จำกัด นั้นได้จดทะเบียน สหกรณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 ทุนจดทะเบียน 60,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ โครงการก่อสร้าง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 270 ล้านบาท ตามแผนโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 โดยได้รับอนุมัติเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรจำนวน 270 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง สิ้นสุดโครงการก่อสร้างวันที่ 11 มีนาคม 2547 และได้เปิดดำเนินการรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันจากสหกรณ์สมาชิกเมื่อเดือน มีนาคม 2547 เป็นต้นมาจวบจน ทุกวันนี้

จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 8 แสนไร่ ให้ผลผลิตปีละ 2 ล้านตัน โดยที่มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 18 โรง มีน้ำเสียวันละ 7,200 ลูกบาศก์เมตร และเพื่อเป็นการลดมลพิษซึ่งจะมี ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม จึงได้มีการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมาผลิตเป็นแก๊สชีวภาพเพื่อผลิตกระแส ไฟฟ้า นำมาใช้ในโรงงาน และที่เหลือ ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสามารถลดกลิ่นเหม็นลดความสกปรกของน้ำเสียได้มากกว่า 90% อีกด้วย

พร้อมกันนี้ทางจังหวัดกระบี่ ยังได้จัดทำโครงการกระบี่เมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งส่งผลให้ เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มจากการสกัดลดลง ล่าสุดได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้น โดยมีผู้เข้าสัมมนาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ผู้แทนลานเท และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จากทั้ง 8 อำเภอ ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการ สกัดไม่น้อยกว่า 18% และร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจรต่อไป.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=61162

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์

บ้านแม่อ้อใน ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดเชียง ใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประชากรในพื้นที่เป็นชนพื้นเมือง และชนเผ่าต่าง ๆ เช่น เผ่าลีซอ ลาหู่ และไตใหญ่ จำนวนมากกว่า 347 หลังคาเรือน ชุมชนแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากกลิ่นของมูลสุกรจำนวนมาก ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน และคาร์ บอนไดออกไซด์ เป็นแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จากมูลหมูไร้ค่า แถมยังส่งกลิ่นให้ในชุมชน ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพ สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อแก๊สหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนเดือนละหลายร้อยบาท เลยทีเดียว

นายสมศักดิ์ ปวงลังกา ผู้ใหญ่บ้านแม่อ้อใน และยัง เป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรเกือบพันตัว เปิดเผยว่า การเลี้ยงสุกร แม้มีรายได้งดงาม แต่ต้องอดทนต่อเสียงต่อว่าของชาวบ้าน เพราะมูลของสุกรส่งกลิ่นรบกวน รวมทั้งยังมีกองทัพแมลงวัน ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ชาวบ้าน 150 ครัวเรือน ได้เข้าร้องเรียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ย้ายฟาร์มหมูออกจากพื้นที่ จึงหาทางออกอยู่นาน ในที่สุดเมื่อได้เดินทางไปร่วมงานสัมมนากับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2550 และทราบว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้เงินทุนสนับสนุนเงินลงทุนสร้างบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนับเป็นโอกาสดี

ผู้ใหญ่บ้านแม่อ้อใน เปิดเผยอีกว่า ต่อมาจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์” กับทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ รับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ จากทางโครงการฯ จำนวน 241,250 บาท และงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 841,250 บาท ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลาง 250 ลูกบาศก์เมตร

ซึ่งทำให้ฟาร์มสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปริมาณ 70-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และได้นำมาใช้เป็นก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้านได้ใช้กันอย่างถ้วนหน้า รวมจำนวนมากกว่า 100 ครัวเรือน นอกจากนั้น ยังได้นำไปให้ทางวัด และโรงเรียนในหมู่บ้านใช้ด้วย ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าก๊าซหุงต้มได้มาก จากเดิมที่แต่ละครัวเรือนเคยซื้อก๊าซหุงต้มใช้เฉลี่ย 160 บาทต่อเดือน แต่หลังจากใช้ก๊าซชีวภาพจากทางฟาร์มทดแทนก๊าซหุงต้ม หลังโครงการประสบผลสำเร็จในฐานะเจ้าของฟาร์มเรียกเก็บค่าบริการ เพื่อนำเงินเข้ากองทุนหมู่บ้านเพียงแค่เดือนละ 50 บาทต่อเดือน ทำให้ชาวบ้านสามารถประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มได้ครัวเรือนละ 110 บาทต่อเดือนเท่านั้น รวมแต่ละครัวเรือนประหยัดเงินเฉลี่ยได้มากถึง 1,320 บาทต่อปี ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้เพื่อนำมาเป็นไม้ฟืนหรือถ่านเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วย เพราะชุมชนแต่ก่อนต้องเข้าป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลัว” ใช้หุงหาอาหารในการดำรงชีวิตประจำวันพอตนผลิตก๊าซชีวภาพนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็เลิกเข้าไปตัดไม้ในป่า และหันมาเข้าร่วมโครงการทุกหลังคาเรือน ปัญหาการทำลายป่าก็หมดไป

นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ทุกวันนี้ภูมิใจที่ได้ช่วยให้ชุมชนได้มีแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนใช้ ที่สำคัญระบบก๊าซชีวภาพที่สร้างขึ้น ยังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากปัญหากลิ่นเหม็นได้เป็นอย่างดี ส่งผลที่ดีต่อสภาพแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้

“จากมูลสุกรไร้ค่าส่งกลิ่นเหม็นเป็นที่รังเกียจของทุกคนกลายมาเป็นก๊าซ ชีวภาพนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการหุงต้มเป็นพลังทางเลือกใหม่ทดแทนพลังงานที่ ต้องซื้อมาใช้ในราคาแพง โครงการนี้สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชา ชนในชุมชนที่ต้องทนเหม็นกลิ่นขี้หมูทุกวัน ช่วยประหยัดเงินใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว ลดปัญหาโลกร้อน แก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โครงการดี ๆ อย่างนี้ควรได้รับการสนับสนุนและนำไปใช้ในอีกหลายชุมชนของประเทศไทยครับ” นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=60766

โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำ

ภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ และต่างมีความพยายามในการลดใช้พลังงาน ตลอดจนเสาะแสวงหาพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อนำมาใช้ทดแทนพลังงานจากธรรมชาติที่นับวันก็จะลดน้อยลงและอาจจะหมดไปได้ ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นอกจาก นี้ของเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นหากปราศจากการจัดการที่ดี และปล่อยให้ของเสียเหล่านี้ย่อยสลายในพื้นที่เปิด จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอย่างก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แน่นอนว่าเราไม่อาจมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่า แต่สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้น น้ำเสีย กลิ่นเหม็นและแมลง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมชุมชน ที่ไม่อาจมองข้ามได้

วันก่อนไปดูงานด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ มีนบุรีที่มีโครงการ “ผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำ” เพื่อให้เป็นโรงงานเป็นมิตรกับชุมชนอย่างแท้จริง

โครงการนี้ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศชนิดปิดคลุมเพื่อลดการกระจาย ของกลิ่นและสามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายน้ำเสียได้ สูงสุดถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีแผนจะนำก๊าซชีวภาพดังกล่าวไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำในโรงงานภาย ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึงปีละ 6.6 ล้านบาท

ศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน โรงงานมีนบุรีแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนมาก เรียกว่า กว่าจะเข้าเมืองในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลามาก ช่วงเวลาเพียง ไม่กี่ปีมานี้แม้ว่าโรงงานแห่งนี้ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ความเจริญที่เริ่มขยายรุกคืบเข้ามาใกล้โรงงาน สิ่งที่ตามมาก็คือ วันนี้ชุมชนกำลังโอบล้อม ทำให้ต้องกลับมาคิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนรอบ ๆ ข้างได้ อย่างมีความสุข ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนักเป็นสิ่งแรก เนื่องจากโรงงานนี้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปเนื้อไก่ จึงมี ของเสียจากกระบวนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากไม่มีการจัด การของเสียเหล่านี้ให้ดีก็อาจจะส่งผลกระทบต่อชุม ชนได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงได้พัฒนาระบบบำบัดมาอย่างต่อ เนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิ ภาพมากที่สุด เป็นที่มาของ “โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ จากระบบบำบัดน้ำ” ที่ไม่เพียงสามารถลดปัญหามลพิษทางกลิ่นรบกวนจากบ่อบำบัดได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยบรรเทาวิกฤติโลกร้อนได้เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงาน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่โรงงาน ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญโครงการนี้นับเป็น ครั้งแรกที่มีขึ้นในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย

“โครงการนี้เป็นต้นแบบที่จะนำไป ประยุกต์ใช้กับโรงงานอาหารแปรรูปอื่น ๆ ของบริษัทต่อไป โดยก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นนี้ มีส่วนผสมของก๊าซมีเทนประมาณ 60-70% นับเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้แทนเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ หรือใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงในการ ประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับหลัก CDM : Clean Development Mechanism ที่ช่วยลดปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลก

แม้ว่าแนวทางบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความตื่นตัวในองค์กรทุกระดับจากทั่ว โลก ก่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ความสำคัญของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลจริงต่อส่วนรวมนั้น จะต้องอยู่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติ ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งต่อความคิดอันดีต่อ ส่วนรวม โดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรก่อนแล้วจึงแผ่ขยายสู่สังคมโดยรวม เช่นนี้...จึงจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บังเกิดผลลัพธ์ได้จริงอย่างยั่งยืน.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=60740

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ขี้ไก่เป็นพลังงานไฟฟ้า

การบำบัดของเสีย ด้วยระบบไบโอแก๊ส เป็นทางออกที่ผู้ประกอบการเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เลือกใช้ใน ปัจจุบัน ที่นอกจากจะสามารถแก้ปัญหากลิ่นเหม็นและลดสัตว์พาหะอย่างแมลงวัน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้แล้ว ยังมีผลพลอยได้ด้วยการนำแก๊สชีวภาพไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ ทั้งระบบอีกด้วย

ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ "ทองใบฟาร์ม" ตั้งอยู่เลขที่ 2/2 หมู่ 3 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จึงเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของภาคปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญต่อการผลิต สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยไปกว่าการใส่ใจในการผลิตไข่ไก่ให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อผู้บริโภค ภายใต้การบริหารงานของเกษตรกรผู้มองการณ์ไกลอย่าง เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู ที่เห็นว่าการจะประสบความสำเร็จในโลกปศุสัตว์นี้ได้อย่างยั่งยืน นอกจากระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐานและทันสมัยแล้ว การบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือกรีนฟาร์ม ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้

แม้จะรู้ว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่เธอกลับมองผ่านอุปสรรคนี้ไป เพราะเห็นถึงความสำเร็จจากผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนครั้งนี้ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาปรับใช้ที่ ทองใบฟาร์ม ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรรายย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยมีบริษัทให้การสนับสนุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีวิชาการที่เหมาะสมสู่ เกษตรกร เพื่อผลักดันให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
ฟาร์มไก่ไข่ ขนาด 6.2 หมื่นตัวแห่งนี้ เลือกใช้ระบบการเลี้ยงแบบอัตโนมัติทั้งหมด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับบริษัท โดยเลี้ยงไก่ในระบบปิด ปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแว้ป (Evaporative Cooling System) ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม แม่ไก่จึงอยู่สบาย ไม่เครียด สุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้มีผลผลิตไข่ไก่ที่ดี นอกจากนั้น ยังใช้ระบบการให้อาหารและการเก็บไข่อัตโนมัติ และการกวาดมูลไก่โดยใช้ระบบสายพาน โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยของสัตว์และความสะอาดโรงเรือนเป็นหลัก

“ยอมรับว่าการลงทุนทำระบบการเลี้ยงทันสมัยใช้เงินค่อนข้างสูง แต่เรามองว่าสิ่งที่จะได้มาหลังจากนั้นมันคุ้มเกินคุ้ม การพัฒนาระบบการเลี้ยงที่มีมาตรฐานอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องคำนึงว่าอาชีพของเราต้องไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน เราจึงนำระบบไบโอแก๊สมาใช้ในฟาร์ม เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนแล้ว ยังมีผลพลอยได้คือแก๊สชีวภาพนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย" เสาวลักษณ์เผย

เสาวลักษณ์เผยอีกว่า ระบบไบโอแก๊สของทองใบฟาร์ม เป็นแบบปลั๊กโฟลว์ (plug flow) ขนาด 1,000 คิว โดยของเสียจากการเลี้ยงไก่ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านเข้าไปยังระบบบำบัด และจะเกิดการหมักขึ้นในบ่อแก๊สชีวภาพ เมื่อการหมักสมบูรณ์จะได้แก๊สชีวภาพ ที่นำไปผ่านเครื่องปั่นไฟ (generator) ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าจากเดิมที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 6 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.5-1.6 หมื่นบาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังต่อยอดความคิดที่เริ่มต้นจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจากมูลไก่ไข่ หลังการบำบัดในระบบไบโอแก๊ส ที่วันนี้กลายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เดือนละมากกว่า 1 แสนบาท
วันนี้มูลไก่ที่เคยไร้ค่าและถูกมอง ว่าเป็นปัญหาต่อสังคม ได้กลับกลายเป็นสิ่งล้ำค่าจนแทบจะเรียกว่าของเสียไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้ถูกนำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ที่นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและช่วยลดมลภาวะแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันอีกด้วย

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20100415/55668/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1.html

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

จักรยานไฟฟ้าแอลเอฝีมือคนไทย

ปัจจุบันประชากรโลกกำลังตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อนอันสืบเนื่องมาจากการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ก่อให้เกิดปรากฏ การณ์ธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างรุนแรง หลายประเทศรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคขนส่งและคมนาคมโดยหันมาใช้พลังงานทดแทนในรูป ของพลังงานไฟฟ้า

รถจักรยานไฟฟ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ

นายประกิต เลิศเยาวฤทธิ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทแอลเอ อี-ไร้ด์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แอลเอฯ รับจ้างผลิตสกูตเตอร์และจักรยานไฟฟ้าให้ประเทศสหรัฐอเมริกามานาน 10 ปี โดยแอลเอฯ จะรับทำฮาร์ดแวร์ทั้งหมด แต่ระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นสมองกลควบคุมการทำงานและแบตเตอรี่นั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กระทั่ง 5 ปี ให้หลังมานี้พบว่าผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงาน มากขึ้น และยังมีความพยายามนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมี แนวโน้มว่าราคาจะแพงขึ้น

สกูตเตอร์และรถจักรยานไฟฟ้า จึงเป็นพาหนะอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังอยู่ ในกระแสความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบยุโรปกลาง ฮอล แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ซึ่งถือเป็นตลาดหลักและมีกำลังซื้อ ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวไปตามกระแส ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีแนวโน้มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงได้จริง

จักรยานแอลเอ จึงเข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม ไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านเงินทุนและได้เชิญดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล อาจารย์คณะบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มาให้ความรู้ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโครงการ “การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสมรรถนะของจักรยาน และสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่”

โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาและทดสอบเพื่อต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับ สมรรถนะของรถจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม -ไอออน เนื่องจากแบตเตอรี่จะคงทน ปลอดภัย สามารถใช้งานได้นานนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุในการประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ในขณะขับขี่ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงออกแบบการทำงานของจักรยาน ไฟฟ้า ให้ได้สมรรถนะที่เหมาะสมกับการ ใช้งาน สภาพภูมิอากาศและสอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้โครงการได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

จุดเด่นของรถจักรยานไฟฟ้าและสกูตเตอร์ คือ ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และยังมีระยะการขับขี่ต่อการอัดประจุหนึ่งรอบไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร โดยไม่ปล่อยไอเสียหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รถจักรยานไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เพราะสามารถใช้แรงคนปั่นหรือใช้พลังงานไฟฟ้าทำให้รถจักรยานขับเคลื่อนได้ตาม ต้องการ

ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล กล่าวว่า ได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพและการดูแลรักษาแบตเตอรี่ ตะกั่วกรดและลิเธียม-ไอออน พบว่า บริษัทแอลเอฯ ได้สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด เมื่อนำมาเก็บรักษาไว้นานทำให้เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปโดยที่เราเองไม่ทราบ หากไม่มีการตรวจสอบก่อนนำไปประกอบเป็นรถจักรยานไฟฟ้า ปัญหาของแบตเตอรี่นำเข้าจากต่างประเทศรวมถึงชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถ จักรยานไฟฟ้าทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ไขดัดแปลงอุปกรณ์อิเล็กทรอ นิกส์ทางบริษัทไม่สามารถกระทำได้เพราะติดเงื่อนไขลิขสิทธิ์ และความยุ่งยากในการประสานงาน

จึงเห็นว่าคอนโทรล เลอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับมอเตอร์ เป็นหัวใจและสมองควบคุมการทำงานของจักรยานไฟฟ้าทั้งหมด คุณภาพของจักรยานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความสามารถของคอนโทรลเลอร์ในการควบคุมการ ทำงานของมอเตอร์ให้มีสมรรถนะตามความต้องการของผู้ใช้และสามารถควบคุมกระแส ไฟฟ้าให้ไหลเข้า-ออกในแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงดำเนินโครงการพัฒนาคอนโทรล เลอร์ขึ้นมาเอง ขณะนี้เครื่องต้นแบบกำลังถูกทดสอบสมรรถนะการทำงาน ก่อนเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับรถจักรยานไฟฟ้าสำหรับตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=59928