วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

โครงการสาหร่ายให้พลังงาน

เมื่อพูดถึงวิกฤติที่โลกใบนี้จะต้องเผชิญในอนาคต คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “พลังงาน” ดูจะเป็นประเด็นแรก ๆ ที่มักจะถูกนึกถึงก่อนเสมอ พอ ๆ กับที่จะต้องนึกถึงวิกฤติด้านอาหาร และวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ความจริงความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติพลังงานไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายประเทศในโลกได้พยายามคิดค้นหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ กันมานานแสนนานแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยด้วย อาทิ โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการวิจัยไบโอดีเซลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะทั่วโลกต่างตระหนักดีว่า “น้ำมันดิบ” จะต้องมีวันหมดสิ้นไป ดังนั้นถ้าจะบอกว่าทุกการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนล้วนแต่เป็นความหวังของมนุษยชาติก็คงไม่ผิดนัก ใครมีแรงมีความคิดสร้างสรรค์จะทำอะไรก็ทำไป หลายคนคิดย่อมดีกว่าคนเดียวคิดอยู่แล้ว

เหมือนอย่างที่คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ได้ทำวิจัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับการนำสาหร่ายน้ำเค็มมาพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนในอนาคต
ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มองว่า ทะเลตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงเรื่องของพลังงานด้วย โดยการวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะสาหร่ายทะเลประเภทจุลสาหร่าย หรือสาหร่ายที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีปริมาณที่มากกว่าสาหร่ายน้ำจืด ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างในพื้นที่จันทบุรีได้มากว่า 30 สายพันธุ์ก็พบว่ามีถึงกว่า 20 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพด้านพลังงานอย่างแน่นอน

“ผมขอบอกเลยว่าเราอย่าไปดูถูกพลังงานจากพืช อย่าลืมว่าน้ำมันดิบก็มาจากซากพืชที่ทับถมกันมาเป็นล้าน ๆ ปี แม้แต่วาฬก็ยังกินสาหร่ายจนตัวใหญ่โตได้ เราก็น่าจะวิจัยหาวิธีย่นระยะเวลาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้เร็วขึ้น ซึ่งจากเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่น่าใช้เวลานานคงได้คำตอบ โดยเริ่มจากสาหร่ายทะเล ซึ่งผมตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 6 เดือนนับจากนี้จะต้องได้คำตอบว่าสาหร่ายทะเลสายพันธุ์ใดมีศักยภาพสูงเป็น 5 อันดับแรก หรือท็อปไฟว์ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ความฝันสูงสุดของผมคือการสกัดสาหร่ายทะเลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบินเจ๊ตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.วศิน กล่าวอย่างมุ่งมั่น

ในขณะที่ ดร.มะลิวัลย์ คุตะโคหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากสาหร่ายทะเล เล่าว่า ทางโครงการได้เริ่มวิจัยตั้งแต่ปลายปี 2552 ขณะนี้สามารถค้นพบวิธีเพาะเลี้ยงสาหร่ายในห้องปฏิบัติการที่ทำให้ได้ผลผลิตสูงได้แล้ว และกำลังพัฒนาระบบต้นแบบอุปกรณ์เก็บเกี่ยวสาหร่ายให้ได้ในปริมาณมาก ๆ เพื่อนำมาสกัดให้ได้ไขมัน หรือครู้ดออยล์ (crude oil) และพัฒนาต่อไปให้กลายเป็นไบโอดีเซล ซึ่งแม้หลายประเทศจะมีการวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายพลังงาน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถทำได้ในเชิงธุรกิจ

“การทำวิจัยเรื่องนี้ถ้าจะว่าไปแล้วต้องบอกว่า มนุษย์ไม่มีสิทธิเลือกสาหร่าย แต่สาหร่ายจะเป็นฝ่ายเลือกเรามากกว่า ดังนั้นการวิจัยเรื่องนี้อย่างน้อยก็เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่สังคมได้รับรู้ถึงประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลของสาหร่าย” ดร.มะลิวัลย์ กล่าว น.ส.ฉัตรสุดา คงเพ็ง นิสิตปี 3 คณะเทคโนโลยีทางทะเล ที่ได้ร่วมโครงการวิจัย เล่าอย่างตื่นเต้นว่า ภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและโลกอนาคต ซึ่งโดยส่วนตัวก็มั่นใจว่าจะสามารถนำสาหร่ายมาทำเป็นน้ำมันได้อย่างแน่นอน

มาถึงตรงนี้ก็คงต้องช่วยให้กำลังใจกัน เพราะสิ่งที่คณะเทคโนโลยีทางทะเล ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี กำลังทำอยู่นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ และยังเป็นการตอกย้ำอีกครั้งให้เราทุกคนได้ตระหนักว่า “ทะเล” มีความสำคัญต่อมนุษย์มากมายเพียงใด.

http://www.dailynews.co.th/citizen/14508