วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

ต้นข้าวโพดและมันสำปะหลัง ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ

ต้นข้าวโพดและมันสำปะหลัง ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพสำเร็จ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากผลผลิตทางการเกษตร โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จากผลิตผลทางการเกษตร คือ มันสำปะหลัง และต้นข้าวโพด

ซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพและมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย ภายในประเทศ โดยใช้เทคนิคการหมักย่อยแบบไร้อากาศหรือไม่มีออกซิเจน ซึ่งผลที่ได้ก๊าซชีวภาพที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนถึงประมาณ 60-70% สามารถ นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น พลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วยจะเห็นได้ว่า การนำผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตก๊าซชีวภาพนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปัญหาราคาผันผวนของมันสำปะหลังและข้าวโพดผันลงด้วย

นายชยานนท์ สวัสดีนฤนาท หนึ่งในนักวิจัยผู้ดูแลโครงการการผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียง ใหม่ เปิดเผยว่า เริ่มต้นทำงานวิจัยด้านก๊าซชีวภาพจากผลผลิตทางการเกษตร ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2552 โดยการหาศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพของมันสำปะหลังและต้นข้าวโพดพบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ที่ใช้ในการทดลองปริมาณ 1 ตัน จะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 420 หน่วย หรือทดแทนน้ำมันเตาได้ประมาณ 165 ลิตร หรือทดแทนก๊าซแอลพีจี ได้ประมาณ 138 กิโลกรัม ในขณะที่ต้นข้าวโพดสดพันธุ์ 271 และพันธุ์ CP ที่ใช้ในการทดลองปริมาณ 1 ตันจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 70 หน่วย หรือทดแทนน้ำมันเตาได้ 28 ลิตร หรือทดแทนก๊าซแอลพีจี ได้ประมาณ 23 กิโลกรัม

หากคิดเปรียบเทียบจากพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ จะผลิตมันสำปะหลัง ได้ 3.6 ตัน สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1,080 ลูกบาศก์เมตร และหากใช้พื้นที่ 1 ไร่ ในการปลูกข้าวโพด หลังจากเก็บ เกี่ยวผลผลิตจะได้ต้นข้าวโพดสด 2 ตัน สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ 100 ลูกบาศก์เมตร

ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงทดลองระบบต้นแบบ ซึ่งคาดว่า ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตรจะเริ่มใช้ได้ราวกลางปี 2554 และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่เกษตรกร รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปลงเป็น พลังงานทดแทนที่เหมาะสม เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร พร้อมกับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการเผาพื้นที่เพาะปลูกและยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร แถมยังได้ปุ๋ยชีวภาพมาใช้ในการปรับปรุงดินซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการ ระบายผลิตผลการเกษตรและที่สำคัญคือเกิดการจ้างงานทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นใน โอกาสต่อไป.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=53677