วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

อินโดนีเซียเริ่มใช้พลังงานจากภูเขาไฟ

อินโดนีเซียได้เริ่มแผนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือนำเอาพลัง มากมายมหาศาลจากภูเขาไฟจำนวนมากของตนมาใช้ประโยชน์ และเป็นผู้นำโลกในด้านภพลังงานความร้อนใต้พิพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย

หมู่เกาะที่เรียงรายด้วยเกาะถึง 17,000 เกาะ ทอดยาวจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก มีภูเขาไฟอยู่หลายร้อยลูก ประมาณกันว่าจะมีพลังงานความร้อนใต้พิภพคิดเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานดังกล่าวทั่วโลก แต่จนถึงขณะนี้มีการปลดปล่อยมาเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิเหนาจึงพยายามแสวงหาความช่วยเหลือจากนักลงทุนเอกชน ธนาคารโลกและหุ้นส่วนอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำพลังงานที่ซ่อนอยู่ใต้ดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์

สุรยา ดาร์มา ประธานสมาคมพลังงานความร้อนฯของอินโดนีเซียเผยว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่จะเพิ่มศักยภาพด้านพลังงานฯอีก 4,000 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่เดิม 1,189 เมกะวัตต์ ภายใน ปี 2557 “ถือเป็นเรื่องท้าทาย” อุปสรรค สำคัญอันดับแรกคือค่าใช้จ่าย ปัจจุบันอินโดนีเซียพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินสกปรกในการเผา โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯมีราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 เท่า และอาจใช้เวลาอีกหลายปีในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ใช้งานได้ และการจะเพิ่มอีก 4,000 เมกะวัตต์ต้องลงทุนอีก 12,000 ล้านดอลลาร์ฯ ดาร์มา กล่าว

แต่ทันทีที่สร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนฯแบบเดียวกับที่คาโมจัง ชวา เมื่อปี 2525 สามารถเปลี่ยนความร้อนจากภูเขาไฟที่ไม่มีวันหมด ให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองโสหุ้ยน้อยกว่า และมีมลพิษน้อยกว่าถ่านหิน และนี่ถือเป็นจุดเด่นที่รัฐบาลหวังจะเอาไปขายในการประชุมนาน 6 วัน ว่าด้วยพลังงานความร้อนฯโลกครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มไปแล้วที่เกาะบาหลีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

หากจะมีประเทศใดในโลกนี้ ที่พลังงานความร้อนฯเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลที่สุด ก็อินโดนีเซียนี่แหละ แต่แม้จะได้เปรียบทางธรรมชาติ อินโดนีเซียยังคงล้าหลังสหรัฐและฟิลิปปินส์ด้านการผลิตพลังงานความร้อนฯ ประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก สุดเป็นอันดับสามของโลกใช้ประโยชน์ แหล่งพลังงานความร้อนฯเพียงแค่ 7 แห่ง เท่านั้น จากจำนวนมากกว่า 250 แห่ง ที่สามารถพัฒนาได้

เหตุผลที่จะหันมาใช้พลังงานความร้อนฯเพิ่มมากขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของอินโดนีเซีย และสอดคล้องกับความเสื่อมทรุดของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หมู่เกาะพร้อมประชากร 234 ล้านคนแห่งนี้ นับเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดของกลุ่มจี-20 แต่ปัจจุบันชาวอิเหนาเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เข้าถึงไฟฟ้า เป้าหมายคือจะต้องให้ถึงประชากร 90 เปอร์เซ็นต์ภายในปลายทศวรรษนี้

คำมั่นของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโฮโยโน ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 25 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 ยิ่งกระตุ้นให้มีการผลักดัน พลังงานความร้อนใต้พิภพมากยิ่งขึ้น การเจรจาโครงการ 340 เมกะวัตต์บนเกาะสุมาตราเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการซารุลลาจะเป็นโครงการโรงงาน พลังงานความร้อนฯใหญ่สุดเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย ต่อจากโรงไฟฟ้า วายัง วินดู ในชวาตะวันตก.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=31&contentID=62086

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น