วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อมฝีมือคนไทย

ทุกวันนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า “อีเวสต์” (e-waste) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียและเสื่อมสภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานแล้ว กำลังมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันและถือเป็นสิ่งที่กำจัดทิ้งได้ยาก พราะเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคน รวมถึงมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่คนไม่ต้องการนั้นชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก ถือเป็นวัสดุที่ย่อยสลายเองได้ยากหรือต้องใช้เวลานาน ซึ่งในภาวะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน มีการรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มีการพูดถึงกันมากก็คือการนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการ รีไซเคิล

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ ของใช้ที่เป็นพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันกำลังเป็นปัญหาที่แก้ยากขึ้น เพราะปริมาณความต้องการใช้พลาสติกกลับไม่เคยลดลง ตราบเท่าที่เรายังต้องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเหล่านี้ อยู่ แต่สิ่งที่ทุกคนร่วมมือทำกันได้ก็คือ ช่วยกันลดปริมาณการใช้ให้น้อยลงและใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อลดปัญหาที่จะเพิ่ม มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนการใช้พลาสติก หรือการทำพลาสติกที่ ย่อยสลายได้ในเวลาไม่นานและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการการผลิต การนำไป ใช้ และการย่อยสลาย ซึ่งก็ได้มีการทำการวิจัยคิดค้นจนเป็นผลสำเร็จแล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้ คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตจากพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Electronic Parts Made from Environmental Friendly Plastics) ผลงานของ นางวีราภรณ์ ผิวสอาด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งยังได้ไปคว้าเหรียญเงินจาก การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยสตรีในงาน Korea International Women's Invention Exposition 2010 (KIWIE 2010) ประเทศเกาหลีใต้ มาด้วย

นางวีราภรณ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็ก ทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่นำพลาสติกเข้ามาใช้ โดย ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก ที่เรียกว่า พลาสติกวิศวกรรม ได้แก่ Acylonitrile-butadiene-styrene (ABS) หรือ Polycarbonate (PC) เป็นต้น ซึ่งเมื่อใช้แล้ว ทิ้งเป็นขยะสู่สิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ปริมาณที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อนอย่างที่ กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
งานวิจัยที่ทำขึ้นเป็นการนำพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาใช้ทดแทน พลาสติก กล่าวคือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นพลาสติกที่เตรียมจากสารตั้งต้นที่มาจาก ธรรมชาติ พวก biomass เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด นำมาผ่านกระบวนการหมักและกระบวนการพอลิเมอไรเซชั่นได้เม็ดพลาสติก จากนั้นจึงนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็ได้ทดลองทำงานขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนเลนส์โฟกัสของเครื่องฉายภาพ

จากนั้นได้ทำการทดสอบ พบว่าหลังการใช้งานเมื่อเป็นขยะที่ทิ้งปนในสิ่งแวดล้อมสามารถย่อยสลายได้ ด้วยจุลินทรีย์ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และจากการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ จะขับถ่ายออกมาเป็น Co2 และน้ำ ที่พืชนำกลับไปใช้เป็นอาหารในการสังเคราะห์แสงด้วย จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการย่อยสลายไม่ได้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด ์สู่สภาวะสิ่งแวดล้อมเลย นอกจากนี้หากมีการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น ยังจะเป็นผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชอีกด้วย

ทั้งนี้ใครจะคิดว่า พืชจำพวก อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะกลายสภาพมาเป็นพลาสติกได้ ที่สำคัญพลาสติกที่ผลิตได้ จากพืชเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ความสำเร็จครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แบบยั่งยืนให้กับประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=79915

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น