วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปลี่ยนความหวานเป็นพลังงานชีวมวล

เสร็จสิ้นไปแล้วในเฟสแรกสำหรับภารกิจการแก้ไขปัญหาลำไยค้างสต๊อก ตั้งแต่ปี 2546-2547 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับอาสานำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการแปรสภาพลำไยค้างสต๊อก กว่า 46,000 ตัน ให้กลายมาเป็น “เชื้อเพลิงชีวมวล” สร้างรายได้คืนกลับเข้ารัฐ แทนที่จะเสียแต่ค่าทำลายและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

“ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า ขณะนี้การดำเนินงานในเฟสแรกคือ บดลำไยหน้าโกดัง 60 แห่ง ใน 4 จังหวัดภาคเหนือ เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล คาดว่าสามารถนำออกจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นเงินรายได้คืนสู่ภาครัฐไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ทีเดียว

โครงการนี้นอกจากจะแปรสภาพลำไยค้างสต๊อกที่เน่าเสียให้มาเป็นเชื้อเพลิงและ ทำให้รัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังเพื่อจัดเก็บแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อลำไยในต่างประเทศว่าจะ ไม่มีการปลอมปนลำไยค้างสต๊อก ช่วยทำให้ราคาลำไยที่ส่งออกสูงขึ้นอีกด้วย
และความสำเร็จที่ได้มานี้... ปฏิเสธไม่ได้กับความสำคัญของเทคโนโลยีที่นำมาใช้แก้ไขปัญหา

ดร.รังสรรค์ ทองทา อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี (มทส.) บอกว่าได้รับมอบหมายจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ร่วมมือกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย พัฒนาเครื่องจักรเพื่อดำเนินการรีไซเคิลลำไยอย่างบูรณาการทั้งด้านวิชาการ และวิศวกรรมศาสตร์

ซึ่งเทคโนโลยีหลักที่ใช้ก็คือ เครื่องบดย่อยหน้าโกดัง และเครื่องอัดแท่งชีวมวลที่เป็นการพัฒนาต่อยอดเครื่องจักรในโครงการวิศวกรรม ย้อนรอย
นอกจากนี้ยังมีการนำเทค โนโลยีมาใช้ในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจนับจำนวนและปริมาณลำไยจากโกดังด้วยเทคโนโลยีอาร์เอฟไอ ดี ซึ่งมีการขนกล่องใส่รถเข็นผ่านระบบเครื่องชั่ง มาตรฐานพร้อมให้คนงานแตะบัตรที่เป็นของตัวเอง ทำให้ข้อมูลทั้งจำนวนกล่องและน้ำหนักลำไยถูกส่งผ่านคอมพิวเตอร์ มีการพิมพ์รายละเอียดลงบนกระดาษคาร์บอนเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปเก็บยังเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางโดยระบบส่ง ผ่านข้อมูลผ่านดาวเทียม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูการทำงานผ่านเว็บไซต์ติดตามผลได้ทันที

และเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดไร้สายครอบคลุมพื้นที่การทำงานทั้งหมด บันทึกตลอดระยะเวลาการทำงาน และใช้ระบบจีพีเอส แทร็คกิ้งติดตามรถขนส่งต่าง ๆ

สำหรับการดำเนินงานในเฟสสอง ดร.รังสรรค์ บอกว่า จะเป็นขั้นตอนของการพัฒนาเป็นชีวมวล ซึ่งมีการลำเลียงลำไยที่บดย่อยแล้วไปสถานที่ผลิต 2 จุดใหญ่ คือ ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งสมาคมเครื่องจักรกลไทยเป็นผู้ดำเนินการ และที่จังหวัดสระบุรี มทส.เป็นผู้ดำเนินการ

โดยเครื่องอัดแท่งชีวมวลจะทำการอัดแท่งลำไยที่บดแล้วขึ้นรูปเป็นพิวเล็ต (pillet) หรือเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ พร้อมใช้ในอุตสาหกรรมและโรงอบลำไยต่าง ๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งในส่วนของ มทส.ที่สระบุรี ได้ตกลงจำหน่ายเชื้อเพลิงดังกล่าวกับภาคอุตสาหกรรมคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะนำไปใช้ที่โรงงานแก่งคอยและท่าหลวง

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=478&contentID=79378

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น