วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แดนกังหันลมแห่งอาเซียน

อีกไม่นาน บ้านเราอาจเป็นแดนกังหันลมแห่งอาเซียนกันแล้ว เพราะดูเหมือนว่าช่วงนี้มีหลายหน่วยงานต่างแสวงหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน ได้มีความพยายามใช้พลังงานทดแทนหลากหลายแบบ ทั้งจากพืชพลังงาน พลังงานชีวภาพ ชีวมวล และล่าสุดคือพลังงานจากธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงานจากลมที่มองว่าอีกหนึ่งช่อง ทางที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษดี ได้ดำเนินโครงการ : การศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเขตภาคเหนือตอนบน โดยมีสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการค้นคว้าวิจัย

นักวิจัยกลุ่มนี้เน้นลมภูเขาตามดอยต่างๆ เพื่อติดตั้งกังหันลม และผลิตกระแสไฟ้า ซึ่งพบว่าในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีลมภูเขาที่อัตราความเร็วเกิน 4 เมตรต่อ 1 วินาที ในระดับที่สูงกว่าพื้นที่พื้น 40-80 เมตร มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บนดอยกิ่วลม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่ดอยม่อนล้าน อ.พร้าว และที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

ล่าสุดมีนักวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นำโดย ดร.รัดเกล้า พันธุ์อร่าม ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ศึกษาวิจัยเพื่อหาพื้นที่ที่มีศักยภาพติดตั้งกังหันลม ด้วยการทำโครงการศึกษาศักยภาพพลังงานของประเทศไทยด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ด้านอุตุนิยมวิทยา 3 มิติ ซึ่ง วช.ได้ให้การสนับสนุนเช่นเคย เพราะหากใช้วิธีการสุ่มตั้งเสาตรวจวัดลม โดยไม่ทราบข้อมูล ต้องใช้งบประมาณสูงมาก

ผลการประเมิน รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ ผู้ร่วมวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า ความแรงของลมในประเทศไทยขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมและระดับความสูงจากพื้นดิน มี 2 ช่วงด้วยกันคือ

1.ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พบพื้นที่มีศักยภาพพลังงานลมสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 6-7 เมตรต่อวินาที ที่ระดับความสูง 50 เมตรเหนือพื้นดิน บริเวณพื้นที่ภาคใต้ด้านอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.ชุมพร ไปจนถึง จ.สงขลา ที่ภาคกลางบริเวณรอยต่อ จ.ลพบุรี กับ จ.สระบุรี ที่ จ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ส่วนภาคอีสานมีบางส่วนคือที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ

2.ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ได้รับอิทธิพลสูงจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในบริเวณภาคอีสาน รวมถึงภาคใต้บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ปัตตานี โดยมีความเร็วลมเฉลี่ยสูงสุด 6-7 เมตรต่อวินาทีที่ระดับความสูง 50 เมตร

เมื่อทราบข้อมูลด้านศักยภาพพลังงานลมแล้ว จะมีการศึกษารายละเอียดเพื่อติดตั้งกังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้า แต่ต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ด้วย

"ดลมนัส กาเจ"
ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20091028/34489/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%A1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น