วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

น่าเสียดายพลังชีวมวล

ได้ เห็นคนไทยมีความสุข ผมก็สุขตามไปด้วยครับ แม้ว่าในอนาคตข้างหน้า ยังไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ทั้งปัญหาการเมือง ภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งของคนในชาติที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ครับ... ผมได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ทั้งในภาวะปกติและในภาวะคับขัน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นจาก “มหาอุทกภัย” เลยขออนุญาตนำมาถ่ายทอด เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมหาทางออก หากอนาคตข้างหน้าเกิดปัญหาพลังงานไฟฟ้าขาดแคลน ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราขาดไฟฟ้าซัก 1 ชั่วโมง จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคนเรา

หากย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว พม่าหยุดส่งก๊าซให้ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” เนื่องจากท่อส่งก๊าซรั่ว กฟผ.ต้องแก้ปัญหา โดยการปล่อยน้ำใน เขื่อนศรีนครินทร์ มาผลิตไฟฟ้าแทน ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนได้รับความเสียหาย ที่มาของปัญหาเกิดจากการพึ่งพา “ก๊าซธรรมชาติ”จากพม่า นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ในสัดส่วนที่มากเกินไปนั่นเอง

ดังนั้นการเลือกใช้ เชื้อเพลิงที่หลากหลายชนิด ในสัดส่วนที่เหมาะสมไม่เยอะเกินไป ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำจาก เขื่อน ถ่านหิน ชีวมวล ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา เวลาเกิดภัยธรรมชาติหรือเหตุอื่นที่ไม่คาดคิดที่ส่งผลกระทบ ก็หันไปเลือกใช้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนการเลือกใช้รูปแบบใดขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ ความจำเป็น และความเหมาะสม ก็นับเป็นการกระจายความเสี่ยง สร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ของประเทศได้เช่นเดียวกัน

การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันของไทย การให้ความสำคัญกับพลังงานชีวมวลก็เป็นอีกทางเลือกที่ควรสนับสนุน โดยเฉพาะ โรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้ “พลังงานชีวมวล” ชีวมวลที่ว่า ก็คือสารอินทรีย์ที่ได้จากพืชและสัตว์ ทั้งในรูปที่อาจจะเป็นของเสียไม่มีประโยชน์ เช่น เศษไม้ ขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แกลบ พวกกากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ฯลฯ

ทุกวันนี้โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มากกว่าร้อยละ 70 ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวล มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ขยายตัวเท่าที่ควร เพราะ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้โครงสร้างราคาอ้างอิงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก

ทั้ง ๆ ที่ราคาก๊าซจากท่อ ปตท. ไม่ใช่ราคาที่สะท้อนราคาจริงตามตลาด แต่เป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดถึงร้อยละ 20 ทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาดถึงร้อยละ 20 ทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ.มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง จึงยากที่ใครจะกล้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

ได้รับรู้ถึงวิธีการที่นำมาสู่กระบวนการผลิต “พลังชีวมวล” ผมขอสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ครับ ยิ่งองค์ประกอบสำคัญที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ คือ เศษไม้ ขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งสิ่งของเหล่านี้บ้านเรามีอย่างเหลือเฟือ หลังจาก “มหาอุทกภัย” เพิ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ พยายามจัดเก็บขยะในรูปแบบต่าง ๆ แต่ดูเหมือนว่าเราเห็นสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ยังค้างอยู่ในที่สาธารณะ อีกเป็นจำนวนมาก

น่าเสียดายครับ หากเร่งทำ “พลังชีวมวล” ผมว่าขยะที่เกิดภายหลังน้ำท่วม กลายเป็น “สินทรัพย์” มีมูลค่าเพิ่มไปในทันที พอจะมาผลักดันโครงการพลังงานทดแทนในช่วงนี้ จะเข้าสำนวน ’กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้“ หรือเปล่าครับ

หรืออย่างกรณี กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ต่ำกว่าความเป็นจริง ก็ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่า ราคาเท่าไหร่จึงมีความเหมาะสม ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่ปัญหามีไว้ให้หนี

อย่าลืมว่าในอนาคต บ้านเราต้องพัฒนาไปในทุก ๆ ด้านการใช้พลังงานก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย ดูอย่างกรณีก๊าซเอ็นจีวีซิครับพอพม่ามีปัญหาเรื่องจัดส่งให้ ก็เกิดภาวะขาดแคลนขึ้นในประเทศไทยทันที เรื่องดี ๆ มีประโยชน์ ต้องเร่งผลักดันครับ ง่ายกว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไหน ๆ.

http://www.dailynews.co.th/article/5/5742

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น