วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

แปลงขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน

ในแต่ละวันประเทศไทยมี “ขยะพลาสติก” มากถึง 6 พันตัน หรือปีละ 2.4 ล้านตัน และนับวันขยะพลาสติกเหล่านี้จะยิ่งกองทับถมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ทำให้ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ปัญหาหนึ่งของการกำจัดขยะคือการไม่มีพื้นที่ฝังกลบเพียงพอ เนื่องจากขยะพลาสติกย่อยสลายยาก มีอยู่เป็นจำนวนมากและกินพื้นที่ฝังกลบขยะ

ปัจจุบันวิธีหนึ่งที่ใช้กำจัดขยะพลาสติกก็คือ การแปรรูปให้เป็นน้ำมัน เพราะเม็ดพลาสติก หรือโพลิเมอร์ (Polymer) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันซึ่งสามารถทำปฏิกิริยาย้อน กลับของกระบวนการ ก็จะทำให้พลาสติกสามารถกลับไปเป็นน้ำมันได้

เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในเทศบาลที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 35 ล้านบาท ในการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันของเทศบาลเมืองวารินชำราบ เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างความสำเร็จของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงาน ที่ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมด้านอนุรักษ์พลังงานมามากกว่า 1,000 โครงการและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน องค์กรและประเทศไทยแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษจากขยะพลาสติกอีกด้วย

เทศบาลเมืองวารินชำราบ มีขยะพลาสติกประมาณ 14.2 ตัน มีกำลังการแปรรูป ขยะพลาสติกวันละ 10 ตัน สามารถผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 6,600 ลิตร ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวจะทำให้ขยะเดิมมีปริมาณลดลงและมีพื้นที่สำหรับรองรับ ขยะใหม่ ปัญหาของขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากว่า พลาสติกมีน้ำหนักเบาแต่ใช้พื้นที่ในการฝังกลบมากไม่เหมือนเศษอาหารที่ย่อย สลายได้ และพลาสติกใช้เวลามากกว่า 400 ปีถึงจะย่อยสลาย

นายจีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบ กล่าวว่า เทศบาลเมืองวารินชำราบมีขยะรวมจำนวน 25–30 ตันต่อวัน รวมกับขยะรอบเทศบาลเมืองวารินชำราบ เช่น เทศบาลนคร เทศบาลตำบล อบต. ต่าง ๆ มาใช้บริการเทศบาลเมืองวารินชำราบ รวมแล้วประมาณ 130–140 ตันต่อวัน โดยมีพื้นที่จัดการขยะจำนวน 300 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังสามารถรองรับขยะได้ แต่หากขยะที่มีมากขึ้นทุกวันอาจจะทำให้เกิดปัญหาขยะในอำเภอวารินชำราบได้อีก 5–10 ปี

กระบวนการแปรรูป เริ่มต้นที่การทำความสะอาดพลาสติกให้มีความปนเปื้อนได้ไม่เกินร้อยละ 30 และนำเข้าเตาเผาโดยให้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 300–500 องศาเซลเซียส เพื่อถ่ายเทความร้อนให้กับพลาสติก พลาสติกก็จะกลายจากของแข็งเป็นของเหลว จากของเหลวกลายเป็นไอ และทำท่อให้ไอจากของเหลวผ่านการควบแน่นโดยใช้น้ำเป็นตัวหล่อเย็น พอผ่านกระบวนการหล่อเย็นก็จะได้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะต้องนำไปกลั่นอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานกับเครื่องยนต์ เครื่องจักรได้

พลาสติกที่เหมาะสมในการนำมาแปรรูปให้เป็นน้ำมันมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ HDPE (ถุงหูหิ้ว) LDPE (ถุงใส่น้ำแข็ง ที่มีความเหนียว) และ PPE (ถุงร้อน ถุงเย็นที่ใส่อาหาร)

ประโยชน์ที่ได้จากการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน นายจีระชัย บอกว่า “น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้มาสามารถนำไปใช้ทดแทนน้ำมันที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่ ปกติซื้อน้ำมันดีเซลในราคาลิตรละประมาณ 30 บาท และน้ำมันเบนซินลิตรละ 30 กว่าบาท ในขณะที่น้ำมันจากขยะพลาสติกมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ ลิตรละ 15-16 บาท ซึ่งทางเทศบาลวารินชำราบนำน้ำมันที่ได้ไปใช้ในกิจกรรมของเทศบาลเช่น เครื่องจักรของเทศบาล รถเก็บขยะ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก”

จากความสำเร็จของการให้การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับการ “แปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน” ของเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า สนพ. ได้ผลิตสารคดีโทรทัศน์เพื่อรวบรวมตัวอย่างผลงานของกองทุนเพื่อส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงานและสื่อสารให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการประหยัด พลังงาน รวมถึงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สนใจนำเทคนิควิธีการอนุรักษ์พลังงานไปใช้ เพื่อตนเอง ครอบครัวและสังคม”

สารคดีโทรทัศน์ชุด “สรรค์สร้างพลังงานต้นแบบ” จะเผยแพร่ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ในรายการเช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า ช่วงเวลา 06.00–07.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2554 และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eppo.go.th เฟซบุ๊ก สรรค์สร้างพลังงานต้นแบบ.

http://www.dailynews.co.th/article/522/2524

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น